ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จีนไม่รอด! มาตรการลงโทษเศรษฐกิจรัสเซียสะเทือนแดนมังกร


Russia China
Russia China

จีนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจกับรัสเซียที่นานาประเทศนำมาใช้ เพื่อตอบโต้การบุกรุกรานยูเครนของรัสเซียเมื่อสัปดาห์ก่อน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน หวัง เหวินเตา (Wang Wentao) ระบุในการแถลงข่าวล่าสุดว่า ในปีนี้แรงกดดันจากการค้าระหว่างประเทศจะมีผลต่อจีนอย่างมหาศาล และสถานการณ์จะเลวร้ายอย่างมาก

มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียที่นานาชาตินำมาใช้ในปัจจุบัน ได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้น และเป็นภาระทางการเงินครั้งใหญ่แก่จีน ในฐานะประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก และพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันราว 2 ใน 3 จากรัสเซีย

ส่วนข้อจำกัดทางเศรษฐกิจอื่นๆ อาจมีผลต่อการค้าระหว่างรัสเซียและจีน มูลค่า 147,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี อีกทั้งการเคลื่อนย้ายเงินทุนไปยังหน่วยงานต่างๆ ของรัสเซีย ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในรูปแบบสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 86% ของธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศด้วย

เจคอป กันเตอร์ นักวิเคราะห์อาวุโส แห่งสถาบัน Mercator Institute for China Studies ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า บริษัทสัญชาติจีนกำลังตกที่นั่งลำบาก เพราะบริษัทจีนที่ดำเนินกิจการในสหรัฐฯ หรือในสหภาพยุโรป อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจขนานใหญ่นี้ตามไปด้วย หากบริษัทแม่ในจีนยังดำเนินธุรกิจหรือมีสายสัมพันธ์กับรัสเซีย

บริษัท Lenovo และ Didi ประกาศยุติการดำเนินกิจการกับรัสเซีย เจอกระแสวิจารณ์อย่างหนักโดยผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในจีน ทำให้บริษัทรายอื่นกังวลว่า การตัดสัมพันธ์กับรัสเซียอาจนำมาซึ่งการสูญเสียฐานลูกค้าของตลาดในประเทศได้

มาร์ค วิลเลียมส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ด้านเอเชีย จาก Capital Economics คาดว่า จีนจะต้องเจอกับปัญหาเงินเฟ้อตามมา เนื่องจากราคาสินค้านำเข้าได้ปรับเพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่การบุกยูเครนของรัสเซีย ซึ่งหากสถานการณ์ยกระดับรุนแรงขึ้นกว่านี้ และการค้าพลังงานระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิง ผลกระทบจะยิ่งมากขึ้นไปอีก

แต่ในทางกลับกัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ด้านเอเชีย จาก Capital Economics ภาวะสงครามได้เปิดประตูแห่งโอกาสทางเศรษฐกิจแก่จีนด้วยเช่นกัน เพราะในระหว่างที่ทั่วโลกตัดสัมพันธ์กับรัสเซีย ได้ผลักให้จีนอยู่ในบทบาทที่สามารถต่อรองสัญญาด้านพลังงานซึ่งเป็นประโยชน์กับจีนได้ในระยะยาว ขณะเดียวกัน มาตรการจำกัดการส่งออกของชาติตะวันตก อาจจะเปิดโอกาสให้บริษัทจีนเข้ามามีบทบาทแทนที่บริษัทฝั่งตะวันตกได้เช่นกัน

แต่คำถามที่สำคัญกว่านั้น คือ รัฐบาลปักกิ่งจะยังคงทำตามข้อตกลงที่ทำไว้กับรัสเซีย เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในการเพิ่มมูลค่าการค้า ซึ่งรวมถึงการเพิ่มการซื้อพลังงานจากรัสเซียหรือไม่?

กันเตอร์ นักวิเคราะห์อาวุโส แห่งสถาบัน Mercator Institute for China Studies มองว่า รัฐบาลปักกิ่งรู้สึกผิดหวังกับท่าทีของรัสเซียที่บุกยูเครนแทบจะทันทีที่ลงนามข้อตกลงร่วมกัน แต่ดูเหมือนว่าจีนจะไม่มีทางเดินออกจากข้อผูกมัดดังกล่าวได้ และแม้ว่าจีนจะกลายเป็นเครื่องช่วยชีวิตที่สำคัญของรัสเซีย แต่ยังมีข้อจำกัดที่รัฐบาลปักกิ่งจะเสนอให้กับรัสเซียได้ โดยไม่สร้างความขุ่นเคืองกับชาติตะวันตก

นอกจากนี้ ประเด็นการส่งออกพลังงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในการส่งออกที่สำคัญที่สุดของรัสเซีย ไม่สามารถเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะสั้น เนื่องจากการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียในปริมาณที่เกินจำนวนที่ทำข้อตกลงไว้จำเป็นจะต้องวางระบบท่อเพิ่มเติม ซึ่งต้องใช้เวลาในการสร้าง

ส่วนประเด็นของระบบชำระเงินระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา จีนพยายามลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และลงนามข้อตกลงการแลกเปลี่ยนเงินตรากับประเทศคู่ค้าหลายแห่ง รวมทั้งรัสเซีย โดยเมื่อปี 2015 รัฐบาลปักกิ่งได้เปิดระบบการชำระเงินข้ามแดนด้วยสกุลเงินหยวน หรือ CIPS เพื่อเป็นทางเลือกทดแทนระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ SWIFT ที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก

วิลเลียมส์ จาก Capital Economics มองว่า แม้ว่าระบบ CIPS จะไม่เกี่ยวข้องกับระบบธนาคารและสถาบันการเงินสหรัฐฯ โดยตรง แต่ระบบ CIPS อาจไม่รอดพ้นจากการแทรกแซงจากสหรัฐฯ หากจีนเลือกใช้ระบบชำระเงินนี้กับประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากรัสเซีย เพราะตอนนี้มีธนาคาร 17 แห่งของรัสเซียที่เชื่อมต่อกับระบบ CIPS ของจีน ซึ่งธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับธนาคารรัสเซีย อาจถือว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อหลบเลี่ยงมาตรการลงโทษจากชาติตะวันตก และอาจทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบ นั่นจึงทำให้การใช้ระบบ CIPS สำหรับธุรกรรมระหว่างรัสเซียและจีนมีข้อจำกัดนั่นเอง

ขณะที่ ลอร์ดส คาซาโนวา ผู้อำนวยการสถาบัน Emerging Markets Institute แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล เปิดเผยกับวีโอเอว่า ยังคงต้องจับตาดูว่าระบบ CIPS จะทำงานอย่างไร และจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็น “คู่แข่ง” ของระบบ SWIFT ได้หรือไม่

XS
SM
MD
LG