เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ร้องขอให้รัฐบาลกรุงวอชิงตัน “กลับมาฟื้นคืนนโยบายจีนอันมีเหตุผลและสอดคล้องกับความเป็นจริง” พร้อมๆ กับ “ส่งเสริมผลักดันให้ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีคืนสู่สภาวะปกติ” ตามรายงานของสำนักข่าว ไชน่า เดลี่ ซึ่งเป็นสื่อของรัฐ
นอกจากนั้น รมต.หวัง ยังกล่าวด้วยว่า จีนมีความยินดีที่จะร่วมทำงานกับสหรัฐฯ ในการดำเนินแผนงานโครงสร้างพื้นฐานโลกที่นำโดยกลุ่มประเทศ จี-7 (G-7) และยินดีหากกรุงวอชิงตันจะเข้ามาร่วมข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ที่มีเป้าหมายในการเปิดเส้นทางการค้าผ่านแผนงานโครงสร้างใหม่ๆด้วย
หากสิ่งที่ทางการจีนต้องการนั้นเกิดขึ้นจริง ก็จะถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสองประเทศมหาอำนาจ หลังจากที่ทั้งสองเริ่มมีประเด็นขัดแย้งต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2017 ทั้งเรื่องการค้า การถ่ายทอดความรู้ทางเทคโนโลยี และการขยายอิทธิพลทางทหารของจีนในเอเชีย
อย่างไรก็ตาม รายงานล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ได้รับการเปิดเผยออกมาเมื่อวันอังคารยังคงมองว่า จีนนั้นเป็นคู่แข่งที่ทำการค้า “อย่างไม่เป็นธรรม” อยู่ดี
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้พยายามหลีกเลี่ยงที่จะแสดงจุดยืนสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อกรณีที่รัสเซียส่งกองทัพบุกยูเครน แม้ว่าทั้งคู่จะมีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรที่แนบแน่นมาอย่างยาวนานก็ตาม โดยจีนยังไม่ได้ร่วมออกเสียงสนับสนุนหรือยังยั้งมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในการประณามการบุกรุกยูเครนของรัสเซีย ขณะที่ เอกอัครราชทูตจีนประจำองค์การสหประชาชาติเอ่ยปากว่า ยูเครนนั้นมีความสำคัญเสมือน “สะพาน” เชื่อมตะวันออกกับตะวันตกด้วยซ้ำ
ฌอน คิง รองประธานบริษัทที่ปรึกษาทางการเมือง Park Strategies ในนครนิวยอร์ก บอกกับ วีโอเอ ว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน “พยายามแสดงท่าทีที่เป็นมิตร” แม้จริงๆ แล้วทางการจีนจะมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นเรื่อยๆ กับรัสเซียก็ตาม พร้อมระบุว่า “ยามวิกฤตเช่นในเวลานี้จะช่วยแสดงให้เห็นธาตุแท้ของแต่ละประเทศออกมา”
ทางด้าน โอ เอ ซึน นักวิชาการจากสถาบัน Singapore Institute of International Affairs ให้ความเห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนนั้นหวังว่า สหรัฐฯ จะยินดีรับท่าทีที่เป็นมิตรจากกรุงปักกิ่งเพื่อประสานความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น ขณะที่ สหรัฐฯ เองกำลังเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจหลายประการในขณะนี้ ซึ่งรวมถึง อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เองกำลังพยายามผลักดันให้วุฒิสภาอนุมัติร่างกฎหมายค่าใช้จ่ายด้านสังคมมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งรู้จักกันในชื่อกฎหมาย Build Back Better อยู่
โอ เอ ซึน กล่าวเสริมว่า "ในขณะนี้ที่สหรัฐฯ กำลังมีความขัดแย้งกับรัสเซียอยู่ รัฐบาลวอชิงตันจำต้องพึ่งพาเพื่อนและพันธมิตรอย่างมาก และทางการจีนจึงใช้โอกาสนี้แสดงท่าทีที่เป็นกลางในกรณีสงครามยูเครนเพื่อจะเปิดโอกาสให้ทั้งจีนและสหรัฐฯกลับมาทำงานร่วมกันได้อีกครั้ง”
ส่วน เอดูอาร์โด้ อาราราล อาจารย์ด้านโยบายสาธารณะ จากมหาวิทยาลัย National University of Singapore ชี้ว่า ทางการจีนสามารถเสนอ “เทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดคุ้มทุน” เพื่อดำเนินการสร้างทางรถไฟและสะพานให้แก่สหรัฐฯได้ แม้ อาจารย์ อาราราล ยอมรับว่า รัฐบาลวอชิงตันเองนั้นมี “ความหยิ่ง” มากเกินกว่าจะยอมรับความช่วยเหลือจากจีนก็ตาม
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ผู้นี้บอกว่า อย่างน้อย การที่ทั้งสองประเทศนี้ไม่ทะเลาะกันอย่างดุเดือดเหมือนเมื่อก่อนถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี
ทั้งนี้ ท่าทีที่เป็นมิตรของรัฐมนตรีต่างประเทศจีนนั้นมีออกมาในงานครบรอบ 50 ปีของแถลงการณ์ร่วมเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นเอกสารที่เริ่มต้นปูทางความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ถูกจัดทำขึ้นระหว่างที่อดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ของสหรัฐฯ เดินทางเยือนจีนครั้งประวัติศาสตร์
รมต.หวัง กล่าวว่า “ประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า การหาจุดร่วมพร้อมๆ กับสงวนความแตกต่างไว้นั้น จะช่วยให้เราสามารถส่งเสริมทั้งสองประเทศให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ แม้ทั้งคู่จะมีความแตกต่างด้านระบบสังคมก็ตาม” และว่า “ผู้นำรุ่นก่อนๆ ของทั้งสองชาติตระหนักถึงสิ่งนี้ ... แต่ไม่ได้พยายามเปลี่ยนอีกฝ่าย เพราะต่างฝ่ายต่างหวังที่จะเห็นทั้งสองประเทศเติบโตเคียงคู่กันไปและมีความร่วมมือต่อกันโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่มีให้กันและกัน”
อย่างไรก็ดี สื่อ ไชน่า เดลี่ รายงานว่า สิ่งที่รัฐมนตรีต่างประเทศจีนนำเสนอออกมานั้นไม่ได้มาพร้อมกับข้อตกลงอันเป็นกิจลักษณะใดๆ ให้แก่สหรัฐฯ ขณะที่ รมต.หวัง ยังใช้โอกาสนี้วิพากษ์วิจารณ์กรุงวอชิงตันด้วยว่า “จงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามหลักการและจิตวิญญาณ” ของแถลงการณ์ร่วมเซี่ยงไฮ้ และแนะให้สหรัฐฯ เลิกที่จะเป็นผู้ชนะเพียงผู้เดียวและหยุดความคิดที่จะ “ตีวงโอบล้อมและควบคุมจีน” ได้แล้ว