Stagflation หรือ ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นสิ่งที่คนอเมริกันอายุ 40 ปีขึ้นไปอาจจะสามารถจดจำได้ เมื่อเกิดสภาวะการณ์เช่นนี้ในอเมริกาในยุคทศวรรษที่ 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาสินค้าและราคาเชื้อเพลิงพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก รวมทั้งโรงงานต่าง ๆ ต้องปิดตัวลง
Stagflation คืออะไร
Stagflation มาจากคำว่า Stagnation (ความซบเซา) กับคำว่า Inflation (ภาวะเงินเฟ้อ) ซึ่งหมายความถึง การที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงควบคู่ไปกับอัตราการว่างงานสูง จนทำให้เกิดส่วนผสมเป็นพิษทางเศรษฐกิจ
เป็นเวลาหลายทศวรรษที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างเชื่อในทฤษฎีที่ว่า ภาวะเงินเฟ้อสูงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งและอัตราการว่างงานต่ำ แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันกำลังทำให้นักเศรษฐศาสตร์หวนรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แจเน็ต เยลเลน กล่าวถึงคำว่า 'Stagflation' ระหว่างการแถลงต่อสื่อมวลชน โดยระบุว่า "ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกค่อนข้างไม่แน่นอนและมีความท้าทายสูง ราคาอาหารและราคาพลังงานกำลังส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจซบเซาพ่วงเงินเฟ้อ สร้างแรงกดดันต่อการผลิตสินค้า การใช้จ่าย และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก"
ด้านอดีตประธานผู้ว่าการระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ เบน เบอร์นังเค กล่าวกับนิวยอร์กไทมส์ในเดือนนี้ว่า เงินเฟ้ออาจจะยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ในขณะที่อัตราการการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งอาจเข้าข่าย 'Stagflation'
เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจหดตัวลง 1.5% ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม แต่การหดตัวดังกล่าวเป็นผลมาจากสองปัจจัยหลักซึ่งไม่ได้สะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง คือ ปริมาณการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น และการลดลงของปริมาณสินค้าคงคลังในช่วงหลังเทศกาลจับจ่ายซื้อสินค้าปลายปี
SEE ALSO: เงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่ง 8.5% สูงสุดในรอบกว่า 40 ปี!สภาวะเศรษฐกิจแบบไหนจึงจะเรียกว่า Stagflation ?
มาร์ค แซนดี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Moody’s Analytics ระบุว่า Stagflation เกิดขึ้นเมื่ออัตราการว่างงานสูงกว่า 5% และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นมากกว่า 5% จากหนึ่งปีก่อน ซึ่งถือว่าเกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว อัตราเงินเฟ้อกับอัตราการว่างงานจะแปรผกผันกัน
กล่าวคือ เมื่อเศรษฐกิจอ่อนแอและประชาชนจำนวนมากตกงาน ภาคธุรกิจต่าง ๆ จะไม่กล้าขึ้นราคาสินค้าจึงทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ในทางกลับกัน เมื่อเศรษฐกิจเติบโตอย่างร้อนแรง อัตราการว่างงานมักอยู่ในระดับต่ำ และราคาสินค้าต่าง ๆ มีแนวโน้มสูงขึ้น
แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือปัญหาในห่วงโซ่อุปทานสินค้าซึ่งทำให้ราคาวัตถุดิบและต้นทุนต่าง ๆ พุ่งสูงขึ้นและเป็นชนวนสำคัญของเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังคงมีกำลังการใช้จ่ายไม่พอสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย ซึ่งเป็นกรณีเดียวกับที่เกิดขึ้นในอเมริการะหว่างปี 1974 - 1982 เมื่ออัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานล้วนอยู่ในระดับสูงกว่า 5% สืบเนื่องจากการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันจากประเทศในตะวันออกกลางมายังสหรัฐฯ
Your browser doesn’t support HTML5
เวลานี้อเมริกาเข้าสู่ภาวะ Stagflation หรือยัง ?
นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า ขณะนี้อเมริกายังไม่เข้าสู่ภาวะ Stagflation เต็มตัว เพราะแม้อัตราเงินเฟ้อจะสูงถึงระดับ 8.3% เมื่อเดือนเมษายน แต่อัตราการว่างงานยังคงอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 5%
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ราคาสินค้าในสหรัฐฯ และทั่วโลกสูงขึ้นนั้นมีหลายประการ ตั้งแต่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการระบาดใหญ่ การขาดแคลนสินค้าและปัญหาห่วงโซ่อุปทาน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินให้แก่ประชาชนซึ่งหลายประเทศนำมาใช้ระหว่างที่เกิดการระบาดใหญ่ ตลอดจนการขาดแคลนพลังงานและอาหารซึ่งเป็นผลจากสงครามในยูเครน
แต่การจ้างงานในสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อัตราการว่างงานลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.6% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี ขณะที่ผลสำรวจความเห็นชี้ว่า คนอเมริกันเกือบ 80% เชื่อว่าตนมี "สถานะการเงินที่ดี"
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างเชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแรงพอที่จะหลีกเลี่ยงการเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ แต่ก็เกิดความกังวลเช่นกันว่าปัญหาต่าง ๆ ที่สะสมมา รวมทั้งความติดขัดของห่วงโซ่อุปทานสินค้า และสงครามในยูเครน กำลังทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบหลายสิบปี
ที่ผ่านมา ระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ต่างพยายามขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดยหวังว่าจะไม่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่าไม่ใช่งานที่ง่ายเลยท่ามกลางกระแสความหวาดกลัวของประชาชน
ประธานระบบธนาคารกล่างสหรัฐฯ เจอโรม พาวเวลล์ กล่าวเมื่อต้นเดือนนี้ว่า ยังคงมีความกังวลต่อ "ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้" เช่น สงครามยูเครน การระบาดต่อเนื่องของโควิด และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่อาจทำให้เศรษฐกิจอเมริกันไม่สามารถเลี่ยงภาวะถดถอยและลงจอดอย่างสวยงามตามที่ตั้งใจไว้ได้
- ที่มา: เอพี