คนเราส่วนใหญ่ล้วนเคยมีประสบการณ์เสียงหายแบบชั่วคราวมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาการเสียงหายเพราะกล่องเสียงอักเสบ หรือจากการกรีดร้องมากเกินไประหว่างชมงานคอนเสิร์ต หรือขณะเชียร์การแข่งขันฟุตบอล
แต่คุณ Nathan Welham นักพยาธิวิทยาที่เกี่ยวกับการออกเสียงและภาษา แห่งมหาวิทยาลัย Wisconsin กล่าวว่ามีคนหลายล้านคนทั่วโลกที่กล่องเสียงเสียหายอย่างถาวร เขากล่าวว่าการสูญเสียความสามารถในการส่งเสียงพูดมีผลกระทบอย่างมากต่อชีวิต
ผู้เชี่ยวชาญอเมริกันคนนี้กล่าวว่า การผ่าตัดเพื่อตัดก้อนเนื้อมะเร็งที่เกิดจากเชื้อไวรัส HPV หรือการผ่าตัดเนื้อเยื่อในลำคอ อาจส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียเสียงได้ และการแพทย์ในปัจจุบันยังบำบัดความบกพร่องนี้ได้ยาก เขากล่าวว่าการสูญเสียเสียงกลายเป็นอุปสรรคต่อผู้ป่วยในการสื่อสารกับคนรอบข้าง เพื่อนร่วมงานและคนในสังคม
ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่นำโดยคุณ Welham ทดลองปลูกเนื้อเยื่อกล่องเสียง โดยใช้เนื้อเยื่อกล่องเสียงที่ได้จากผู้เสียชีวิตหนึ่งคน และและจากผู้ป่วยสี่คนที่ต้องผ่าตัดกล่องเสียงทิ้งเพราะอาการป่วยอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง
ทีมงานของคุณ Welham ทำการสกัดเซลล์กล่องเสียงแล้วนำไปปลูกบนแบบที่ทำจากคอลาเจนรูปทรงสามมิติ
ทีมงานชี้ว่าเนื้อเยื่อที่ปลูกใช้เวลา 3 สัปดาห์กว่าจะเติบโตได้ขนาดที่ต้องการ แล้วนำไปใช้ปลูกถ่ายแก่สุนัขตำรวจหลายตัว คุณ Welham กล่าวว่าเนื้อเยื่อเส้นเสียงที่ปลูกได้มีขนาดเท่ากับเส้นเสียงของมนุษย์ ที่มีความยาวระหว่าง 15-18 มิลลิเมตรและหนาประมาณ 1 มิลลิเมตร
ผลการทดลองนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Science Translational Medicine ไปเมื่อเร็วๆ นี้
ทีมงานวิจัยทดสอบเนื้อเยื่อกล่องเสียงที่ปลูกได้ด้วยการนำไปผูกติดกับท่อลมเทียม และเป่าลมที่มีความชื้นผสมอยู่เข้าไปในกล่องเสียงที่ปลูกได้ คุณ Welham กล่าวกับบรรดาผู้สื่อข่าวผ่านทางการประชุมทางไกลว่า เนื้อเยื่อกล่องเสียงที่พัฒนาขึ้นได้นี้สร้างเสียงที่ยังไม่เป็นธรรมชาติแต่ถือว่าน่าพอใจ
คุณ Welham หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์อเมริกันกล่าวว่าเสียงที่ออกมาฟังเเล้วคล้ายๆ กับเสียงของหุ่นยนต์ และยังไม่เหมือนกับเสียงของคนเรา แต่เขาชี้ว่าผลการทดลองนี้สร้างกำลังใจแก่ทีมงาน
ทีมนักวิจัยชี้ว่าในการทดลองกับหนูทดลอง เนื้อเยื่อกล่องเสียงที่ปลูกขึ้นในห้องทดลองนี้ยังไม่ก่อให้เกิดปฏิกริยาตอบสนองจากระบบภูมิต้านทานร่างกาย ช่วยสร้างความหวังว่าอาจมีความเป็นไปได้ที่จะนำเนื้อเยื่อเส้นเสียงไปปลูกถ่ายให้แก่คนเราได้ในอนาคต
นอกจากนี้ เนื้อเยื่อเส้นเสียงที่ปลูกได้ในห้องทดลอง อาจจะได้รับการปกป้องจากการทำงานของระบบภูมิต้านทานของร่างกายในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมตามธรรมชาติ ทีมนักวิจัยชี้ว่ามีเนื้อเยื่อบางชนิด อาทิ เนื้อเยื่อกระจกตา ที่ไม่กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิต้านทานร่างกายอย่างที่พบในการทดลองกับหนูทดลอง
คุณ Welham หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า การทดลองนี้ถือเป็นการพิสูจน์ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะปลูกเนื้อเยื่อกล่องเสียง เพื่อใช้ในการบำบัดทางการแพทย์ในอนาคต แต่เขาชี้ว่ายังต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะนำไปทดลองบำบัดนี้ได้ในคน
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)