งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Harvard และ Stanford ระบุว่า งานที่ทำให้อายุเราสั้นลงได้จริงๆ นั้น ไม่ใช่งานหนัก แต่เป็นงานที่มีความเครียดสูง งานวิจัยชิ้นนี้ยังบอกด้วยว่า จำนวนปีของอายุที่สั้นลงจากการทำงานแบบเครียดสูงนั้น ยังอาจขึ้นอยู่กับเพศ เชื้อชาติ และระดับการศึกษาด้วย
ในงานวิจัยครั้งนี้นักวิจัยได้แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 18 กลุ่ม ตามเพศ เชื้อชาติ และระดับการศึกษา จากนั้นพิจารณาปัจจัยซึ่งเกี่ยวกับที่ทำงานประกอบอีก 10 อย่าง รวมถึง อัตราการตกงาน การไล่ออก ประกันสุขภาพ ชั่วโมงการทำงาน ความมั่นคง และความพึงพอใจระหว่างเวลางานกับเวลาที่ให้ครอบครัว เพื่อนำมาวิเคราะห์หาตัวเลขจำนวนปีของอายุขัยที่ลดลง
งานวิจัยชิ้นนี้นับเป็นชิ้นแรกที่นำปัจจัยด้านเชื้อชาติและระดับการศึกษามาวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่ทำให้อายุขัยสั้นลงจากการทำงาน
ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า คนที่มีการศึกษาในระดับต่ำกว่าและมีโอกาสได้งานที่มีระดับความเครียดสูงกว่า และมีโอกาสมากกว่าที่อายุขัยจะสั้นลง เมื่อพิจารณาจากปัจจัยด้านความมั่นคงในอาชีพ
ขณะที่คนที่จบการศึกษาระดับสูงกว่ามีโอกาสน้อยกว่าที่จะได้รับผลกระทบจากงานที่มีความเครียดสูง
ในส่วนที่เกี่ยวกับเชื้อชาติและเพศ งานศึกษาชิ้นนี้ชี้ว่าคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันและละตินอเมริกา มีอายุขัยสั้นลงจากความเครียดในที่ทำงานมากกว่าคนอเมริกันผิวขาว ไม่ว่าเพศไหนหรือระดับการศึกษาเท่าใด
และในกลุ่มคนเชื้อชาติเดียวกัน พบว่าผู้ชายมีอายุขัยสั้นลงจากความเครียดในที่ทำงานมากกว่าผู้หญิง ยกเว้นในกลุ่มคนเชื้อสายละตินอเมริกันที่ผู้หญิงได้รับผลกระทบมากกว่า
นักวิจัยบอกว่ามีสาเหตุสำคัญที่สุด ที่ทำให้กลุ่มคนที่มีระดับรายได้และระดับการศึกษาต่ำกว่า มีอายุขัยสั้นลงจากปัจจัยด้านการทำงาน คือความเครียดจากการตกงานหรือถูกไล่ออก และการเข้าถึงประกันสุขภาพ
ส่วนสาเหตุรองๆลงมา คือความมั่นคงในอาชีพ จำนวนชั่วโมงการทำงาน การเปิดรับระดับมลพิษ และพฤติกรรมการใช้ชีวิต
นักวิจัยสรุปส่งท้ายว่า สิ่งที่ได้จากงานวิจัยชิ้นนี้คือการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในการทำงาน ตลอดจนการการจัดหาสวัสดิการต่างๆอย่างเท่าเทียมและเหมาะสม โดยเฉพาะในกลุ่มพนักงานที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่า เพื่อไม่ให้มีใครต้องตายอย่างช้าๆ เพราะงานประจำที่ทำหาเลี้ยงชีพอยู่ทุกวัน