คำถามที่คนชอบออกกำลังกายมักจะสงสัยอยู่เสมอคือ การออกกำลังกายมากเกินไปจะเป็นผลเสียหรือไม่? ซึ่งนักวิจัยที่อังกฤษพยายามหาคำตอบเรื่องนี้ และพบว่าการออกกำลังกายมากเกินไป ทั้งในด้านปริมาณและความเข้มข้น อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบได้
ในรายงานที่เผยแพร่ต่อที่ประชุม European Society of Cardiology และตีพิมพ์อยู่ใน Wall St. Journal นักวิจัยได้แบ่งกลุ่มตัวอย่าง 340 คน เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นนักกีฬาเก่าอายุเกิน 40 ปี ซึ่งออกกำลังกายเป็นประจำมานานกว่า 10 ปี กล่าวคือวิ่งเกิน 56 กม.ต่อสัปดาห์ หรือปั่นจักรยานเกิน 150 กม.ต่อสัปดาห์ และไม่มีประวัติด้านโรคหัวใจในครอบครัว โดยนักวิจัยเรียกกลุ่มนี้ว่า “กลุ่มออกกำลังกายหนักหรือเข้มข้น”
กลุ่มที่สองอายุเกิน 40 ปี และไม่มีประวัติด้านโรคหัวใจในครอบครัวเช่นกัน แต่ออกกำลังกายน้อยกว่าคือไม่ถึง 150 นาที หรือสองชั่วโมงครึ่งต่อสัปดาห์
ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มที่ออกกำลังกายหนักนั้น มีระดับแคลเซียมในเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจสูงกว่ากลุ่มที่ออกกำลังกายน้อยกว่า ซึ่งแคลเซียมดังกล่าวสามารถไปจับตัวเป็นคราบหินปูนอยู่ที่ผนังเลือด และอาจนำไปสู่อาการเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบตัน
ส่วนกลุ่มที่มีระดับแคลเซียมดังกล่าวต่ำที่สุด คือกลุ่มที่วิ่งไม่ถึง 56 กม.ต่อสัปดาห์ หรือปั่นจักรยานเกิน 150 กม.ต่อสัปดาห์
อย่างไรก็ดี คุณหมอ Ahmed Merghani ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและผู้จัดทำรายงานชิ้นนี้ บอกว่ายังมีข่าวดีสำหรับผู้ที่ออกกำลังกายแบบเข้มข้น นั่นคือคราบหินปูนในหลอดเลือดของผู้ที่ออกกำลังกายหนักนั้น มีความหนาแน่นและแข็งแรงกว่าคราบหินปูนของผู้ที่ออกกำลังกายน้อยกว่า ซึ่งคราบหินปูนแบบแข็งนี้ นักวิจัยบอกว่ามีโอกาสน้อยที่จะแตกออก และลดความเสี่ยงของโรคหัวใจล้มเหลวหรือโรคเส้นเลือดเลี้ยงสมองอุดตันเฉียบพลัน
นักวิจัยเชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่ออกกำลังกายหนักมีระดับแคลเซียมในหลอดเลือดสูงนั้น คืออาการอักเสบ การเปลี่ยนโครงสร้างของหัวใจ ตลอดจนการมีฮอร์โมนหรือโปรตีนชนิดใดชนิดหนึ่งถูกขับออกมามากเกินไป
รายงานของ Wall St. Journal ระบุว่าเวลานี้ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจกำลังรอให้มีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องนี้ เพื่อให้สามารถระบุได้อย่างชัดเจนและเจาะจงว่า จุดไหนหรือระดับไหนที่จะทำให้ประโยชน์ที่ได้จากการออกกำลังกายเกิดการย้อนกลับ ดังที่ปรากฏในรายงานชิ้นนี้
(รายงานจาก Wall St. Journal)