กล้วยจัดเป็นหนึ่งในอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายสูง นอกจากจะเป็นแหล่งวิตามินและแร่ธาตุหลายประเภทแล้ว กล้วยยังช่วยป้องกันอาการซึมเศร้า ตะคริว ความดันเลือดต่ำ และป้องกันอาการหัวใจวาย
และมาถึงขณะนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์อเมริกันยังค้นพบว่ากล้วยอาจจะช่วยต่อต้านเชื้อไวรัสได้หลายชนิดอีกด้วย
ตัวโปรตีนในกล้วยที่มีประโยชน์ในการต่อต้านเชื้อไวรัสนี้เรียกว่า บานเลค (BanLec) จะทำหน้าที่เกาะติดกับตัวโมเลกุลของน้ำตาล และช่วยกันไม่ให้เชื้อไวรัสเจาะเข้าไปภายในเซลล์ ช่วยป้องกันการติดเชื้อ
ทีมนักวิจัยยังค้นพบด้วยว่า ตอนที่แยกโปรตีนบานเลคออกมาเพื่อใช้ในการทดลองบำบัดผู้ป่วย บานเลคยังเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเกิดอาการระคายเคืองและอาการอักเสบ หลังค้นพบปัญหานี้ ทีมนักวิจัยนานาชาติทีมหนึ่งทำการศึกษาโปรตีนบานเลคนี้ และส่วนของโปรตีนที่เป็นสาเหตุของอาการข้างเคียงข้างต้น
หลังจากนั้นทีมวิจัยใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมในการพัฒนาโปรตีนบานเลคชนิดใหม่ที่ยังมีคุณสมบัติในการต่อต้านการติดเชื้อไวรัส แต่ไม่ไปกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิต้านทานในร่างกาย
ในรายงานผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cell เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมนักวิจัยชี้ว่าโปรตีนบานเลคที่พัฒนาขึ้น อาจจะกลายเป็นยาต่อต้านเชื้อไวรัสแบบครอบจักรวาลชนิดแรกในอนาคตที่สามารถต่อต้านเชื้อไวนัสได้หลายหลากประเภท รวมทั้ง เชื้อเอชไอวี เชื้อไวรัสตับอักเสบและแม้เเต่เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้หวัดที่พบทั่วไป
อย่างไรก็ตาม คุณ David Markovitz ผู้ร่วมร่างรายงานผลการวิจัยอาวุโสของทีมงานวิจัยแห่งมหาวิทยาลัย University of Michigan ที่ Ann Arbor เตือนว่าร่างกายของคนเราจะไม่ได้รับประโยชน์จากโปรตีนบานเลคผ่านการรับประทานกล้วยหลายๆหวี
เขากล่าวว่าหากเรารับประทานกล้วย โปรตีนบานเลคธรรมชาติในกล้วยจะถูกย่อยสลายโดยกรดในกระเพาะอาหาร ซึ่งต่างจากโปรตีนบานเลคตกแต่งที่ทีมวิจัยคิดค้นขึ้น ดังนั้นเขาคิดว่าการรับประทานกล้วยไม่ช่วยให้ร่างกายได้คุณประโยชน์จากโปรตีนบานเลค
คุณ Markovitz กล่าวว่าโปรตีนบานเลคตกแต่งที่ทีมงานพัฒนาขึ้นจะออกมาในรูปฉีด เขากล่าวว่าแรกเริ่มเดิมที มีการศึกษาคุณสมบัติของโปรตีนบานเลคเพื่อนำไปใช้พัฒนาเป็นยาทาหรือเจลที่ผู้หญิงสามารถใช้ทาก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี
การวิจัยพบว่าโปรตีนบานเลคมีคุณสมบัติช่วยต่อต้านเชื้อไวรัสได้หลายชนิด ซึ่งไวรัสเหล่านี้จะตายไปในที่สุดหากมันไม่สามารถเข้าไประบาดภายในเซลล์ของร่างกายได้
มาถึงจุดนี้ คุณ Markovitz กล่าวว่ายังไม่มีแผนที่จะนำโปรตีนบานเลคตกแต่งไปทดสอบทางคลีนิคในคน เพราะผลการวิจัยนี้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นและจำเป็นต้องศึกษาให้แน่ใจว่าโปรตีนบานเลคตกแต่งนี้ไม่เป็นอันตรายต่อคนเสียก่อน