ที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติจัดการประชุมนัดฉุกเฉินในวันอังคารเพื่อผ่านมติเรียกร้องให้มีการหยุดยิงในสงครามอิสราเอล-ฮามาสเพื่อจุดประสงค์ด้านมนุษยธรรม
การประชุมนัดพิเศษเริ่มต้นในช่วงบ่ายอังคารตามเวลาในนครนิวยอร์ก โดยใช้เวลาหารือเพียงชั่วโมงเศษ ก่อนที่จะมีการลงมติเสียงส่วนใหญ่หรือเกิน 2 ใน 3 รับรองนี้ โดยมีประเทศสนับสนุน 153 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง และงดออกเสียง 23 เสียง
ร่างมติดังกล่าวมีเนื้อหาที่แสดงถึง “ความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในระดับวิบัติหายนะในฉนวนกาซ่า และความทุกข์ทรมานของประชากรพลเรือนปาเลสไตน์” และเน้นย้ำความจำเป็นที่จะปกป้องพลเรือนทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ภายใต้อำนาจของกฎหมายระหว่างประเทศ
มตินี้ยังเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขและให้มีการเปิดทางให้กับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั้งหลายด้วย
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวในวันอังคารว่า อิสราเอลกำลังสูญเสียแรงหนุนจากนานาชาติ เพราะ “การทิ้งระเบิดโดยไม่เลือกหน้า” เข้าใส่พลเรือน ขณะเดินหน้าทำสงครามกับกลุ่มติดอาวุธฮามาส
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติไม่สามารถผ่านมติคล้าย ๆ กันนี้ออกมาได้ หลังสหรัฐฯ ใช้สิทธิ์วีโต้ แต่ในการประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นนั้นไม่มีการให้สิทธิ์วีโต้ใด ๆ ขณะที่ มตินั้นก็ไม่ได้มีผลบังคับใช้ แต่มีนัยทางการเมืองอยู่บ้าง
ก่อนการประชุมที่ยูเอ็นในวันพุธ การต่อสู้ในฉนวนกาซ่ายังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยอิสราเอลทำการโจมตีทางอากาศเข้าใส่พื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ของเขตปกครองนี้อย่างหนัก
กองทัพอิสราเอลกล่าวว่า การโจมตีทางอากาศนั้นมีจุดประสงค์เพื่อทำลายจุดยิงจรวดออกมาจากกาซ่า และอ้างว่า กองทหารภาคพื้นดินค้นพบจรวด 250 ลูกรวมทั้งกระสุนปืนใหญ่และระบบอาวุธต่อต้านรถถังที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ยิงประทับบ่า (rocket-propelled grenade – RPG)
ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลกออกมาเรียกร้องในวันอังคารให้ “มีการปกป้องคุ้มครอง(การนำส่ง)ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบริการด้านสาธารณสุขในกาซ่า” โดยอ้างถึงความยากลำบากที่ทีมงาน WHO ประสบระหว่างการนำส่งเสบียงทางการแพทย์ไปยังโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกาซ่าซิตี้ และระหว่างการอพยพผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บหนัก พร้อมระบุว่า มีความล่าช้าที่จุดตรวจของทหาร และคนของสภาเสี้ยววงเดือนปาเลสไตน์ถูกควบคุมตัวไว้ด้วย
เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า “ผู้คนในกาซ่ามีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุข” และว่า “ระบบสาธารณสุขต้องได้รับการคุ้มครอง แม้ในภาวะสงคราม”
- ข้อมูลบางส่วนมาจากเอพี รอยเตอร์และเอเอฟพี
กระดานความเห็น