รายงานล่าสุดจากคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุถึงความรู้สึกวิตกกังวลอย่างหนักกับอำนาจและการตีความหมายขอบเขตกฏหมายความมั่นคงฉบับใหม่ที่ฮ่องกง ซึ่งประกาศใช้งานมาตั้งแต่ปี 2020 เพราะกฏหมายข้างต้นที่ผ่านโดยรัฐสภาสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น ไม่ได้รับการทำประชาพิจารณ์หรือความเห็นจากชาวฮ่องกงเลย
คริสโตเฟอร์ อารีฟ บัลคัน รองประธานคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น กล่าวว่า ตั้งแต่มีการบังคับใช้กฏหมายความมั่นคงฉบับใหม่ ชาวฮ่องกงกว่า 200 คนได้ถูกจับกุมไปแล้ว โดยในจำนวนดังกล่าวมีเด็กถึง 12 คนด้วย
เขากล่าวว่า “ทางคณะกรรมการได้ชี้แจงถึงช่องโหว่ต่าง ๆ ของกฏหมายความมั่นคงฮ่องกง รวมถึงประเด็นการขาดความชัดเจนเกี่ยวกับขอบเขตของคำว่า ความมั่นคงแห่งชาติ และความน่าจะเป็นเรื่องการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจากเกาะฮ่องกงไปจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งไม่ได้เป็นรัฐภาคีของสนธิสัญญาว่าด้วยการสอบสวน การดำเนินคดี การไต่สวน และการตัดสินลงโทษ”
รัฐบาลอังกฤษส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้จีนในปี 1997 ภายใต้ข้อสัญญาที่รับรองว่า ฮ่องกงจะได้รับการปกครองแบบ "หนึ่งประเทศสองระบบ" โดยข้อตกลงดังกล่าวได้รับการปกป้องภายใต้กฎหมายพื้นฐาน (Basic Law) ซึ่งรับรองสิทธิและเสรีภาพต่าง ๆ ของชาวฮ่องกง เช่น การแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมบนเกาะฮ่องกง เป็นระยะเวลา 50 ปี หรือจนถึงปี 2047 นั่นเอง
อย่างไรเสีย หลังการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2019 จีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง มาแทนที่เงื่อนไขในข้อตกลงที่ทำกับอังกฤษไว้เมื่อ 23 ปีก่อนหน้า โดยกฎหมายใหม่นี้ห้ามการแบ่งแยกดินแดน การบ่อนทำลาย การก่อการร้าย และการสมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังต่างชาติ ซึ่งรายละเอียดของกฎหมายดังกล่าวสามารถถูกตีความไปได้หลายทาง
ในเรื่องนี้ คริสโตเฟอร์ อารีฟ บัลคัน จากองค์การสหประชาชาติ ชี้ว่า ในฐานะที่ฮ่องกงเป็นผู้ลงนามในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ฮ่องกงต้องปฏิบัติตามข้อตกลงเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชากรดังที่ระบุไว้ในเอกสารนี้
และแม้จีนจะไม่ได้ลงนามในกติการะหว่างประเทศที่ว่า แต่ บัลคัน กล่าวว่า ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ระบุไว้ในกติกานั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก รัฐบาลฮ่องกงจึงต้องควรยึดมั่นในหลักการปกป้องสิทธิมนุษชนยและสิทธิ์ต่างๆ ภายใต้ข้อตกลงที่ทำไว้กับอังกฤษ
บัลคันชี้ว่า การที่กฎหมายความมั่นคงของจีนเน้นย้ำว่า อำนาจของกฎหมายนั้นมีความสำคัญเหนือสิทธิ์ต่าง ๆ เป็นหนึ่งในเหตุผลที่คณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเรียกร้องให้เกิดการยกเลิกกฎหมายนี้ เพราะขอบเขตของกฎหมายล่วงล้ำและไม่สามารถรับรองสิทธิและเสรีภาพใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองได้
นอกจากนั้น คณะกรรมการฯ ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบอีกข้อของกฎหมายความมั่นคงของจีนที่มีต่อองค์กรภาคประชาสังคมอีกด้วย หลังจากที่สหภาพการค้าและสหภาพนักเรียนหลายแห่งถูกคุกคามด้วยอำนาจของกฎหมายนี้จนต้องย้ายไปทำการที่อื่น หรือยุติบทบาทของตนไปแล้ว
ท้ายสุด ผู้เชี่ยวชาญอิสระหลายคนกล่าวว่า รัฐบาลฮ่องกงไม่สามารถให้คำมั่นกับตัวแทนขององค์กรจากภาคประชาสังคมต่าง ๆ ที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในการจัดทำรายงานล่าสุดของยูเอ็น ว่า จะได้รับการปกป้องไม่ให้ถูกดำเนินคดีภายใต้อำนาจของกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติหรือไม่ แม้ว่าตัวแทนเหล่านี้จะได้ร้องขอจากทางการฮ่องกงไม่ให้ลงโทษพวกเขาแล้วก็ตาม
- ที่มา: วีโอเอ