การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงของรัฐบาลจีนในฮ่องกงส่งผลให้สื่อและสำนักข่าวต่างชาติหลายแห่งเริ่มพิจารณาย้ายไปให้ห่างจากอิทธิพลของรัฐบาลกรุงปักกิ่งมากขึ้นเรื่อย ซึ่งหมายถึงสถานภาพการเป็นศูนย์กลางสื่อในเอเชียของฮ่องกงที่จะเริ่มจางหายไปในอนาคตอันใกล้นี้
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา องค์กรสื่อขนาดใหญ่จากทั่วโลกเลือกฮ่องกงให้เป็นที่ทำการใหญ่ของบริษัทในภูมิภาคเอเชียมาโดยตลอด เนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้กับจีน แต่มีระบบการปกครองที่ยึดตามข้อบทกฎหมายและมีเสรีภาพของสื่อที่เปิดกว้าง
แต่กฎหมายฉบับใหม่ที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งผ่านออกมาให้บังคับใช้ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม เพื่อปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงที่เรียกร้องประชาธิปไตยที่เริ่มขึ้นมาเมื่อกว่าปีแล้วและบางครั้งกลายเป็นเหตุการณ์รุนแรง ทำให้ความแตกต่างระหว่างเขตกึ่งปกครองตนเองนี้กับจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มหายไป และชื่อเสียงของฮ่องกงในฐานะเมืองที่มีเสรีภาพที่สุดของจีนก็กำลังจะกลายเป็นอดีตด้วย
หนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ เป็นสื่อใหญ่รายแรกที่ประกาศในสัปดาห์นี้ว่าจะย้ายทีมงานประมาณ 1 ใน 3 จากสำนักงานในฮ่องกงไปอยู่ที่เกาหลีใต้ เพราะการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ โดยข้อมูลจากหนังสือเวียนภายในของบริษัทระบุว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ใหม่ในฮ่องกงที่จะกระทบการทำงานและการปฏิบัติหน้าที่สื่อ ทำให้ต้องดำเนินแผนรองรับให้กับทีมงานในภูมิภาคเพื่อจะได้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ทีมงานที่ยังคงอยู่ในฮ่องกงจะรับหน้าที่รายงานข่าวจากเขตปกครองจีน แม้ว่าสถานการณ์ทั่วไปจะทำงานได้ยากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเร็วๆ นี้ ทางการจีนปฏิเสธที่จะต่ออายุวีซ่าให้กับ คริส บัคลีย์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ที่ดูแลประเด็นในประเทศจีน
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนออกคำสั่งขับไล่ผู้สื่อข่าวจากสื่ออเมริกัน เช่น เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ เดอะ วอชิงตัน โพสต์ และ เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล ออกจากประเทศ และห้ามไม่ให้ทำงานแม้แต่ในฮ่องกงด้วย
หลังเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น เดอะ วอชิงตัน โพสต์ ตัดสินใจย้ายผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 2 รายของตนจากจีนไปอยู่ที่เกาหลีใต้ทันที ขณะที่ สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล และสำนักข่าว เอเอฟพี ของฝรั่งเศส กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะทำอย่างไรกับสำนักงานในฮ่องกง
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่า การย้ายออกของสื่อต่างชาติในฮ่องกงนั้น จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป นั่นเป็นเพราะว่ายังไม่มีตัวเลือกใดในเอเชียที่โดดเด่นพอจะกลายมาเป็นศูนย์กลางสื่อในภูมิภาคแทนได้