ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: มุมมอง 'ทรัมป์ - แฮร์ริส' กับอนาคตที่แตกต่างของยูเครน


ยูเครนกำลังเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอนภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากผู้สมัครทั้งสองคน คือ รองปธน.คามาลา แฮร์ริส และอดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ต่างมีความข้อเสนอที่แตกต่างกันในประเด็นที่เกี่ยวกับสงครามในยูเครน

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี กำลังหาแนวทางรับมือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่ออนาคตของประเทศหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พ.ย. โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากว่าอดีตปธน.ทรัมป์ เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง

โอเลกไซ เมลนีก นักวิเคราะห์จากโครงการความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ศูนย์วิจัยราซัมคอฟ กล่าวว่า "มีความเชื่อกันว่า หากทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่งในทำเนียบขาวอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีนักสำหรับยูเครน" "แต่ก็มีความเห็นในเชิงระมัดระวังเช่นกันว่าไม่ใช่ทุกอย่างจะเลวร้ายไปเสียหมด"

ทรัมป์กล่าวไว้ว่า เขาจะสามารถยุติสงครามยูเครนได้ตั้งแต่วันแรก ๆ ที่เข้ารับตำแหน่ง ขณะที่ เจดี แวนซ์ ผู้ลงสมัครคู่กับทรัมป์ในตำแหน่งรองปธน. เคยบอกว่า เขาไม่สนใจยูเครนมากนัก

ทางด้านรองปธน.แฮร์ริส เคยพบกับปธน.เซเลนสกี มาแล้ว และเคยเข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านความมั่นคงกับยุโรปในประเด็นที่เกี่ยวกับยูเครนแล้วเช่นกัน

ในการกล่าวปราศรัยที่การประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตเมื่อเดือนที่แล้ว คามาลา แฮร์ริสพยายามสร้างความแตกต่างกับทรัมป์ในเรื่องสงครามยูเครน โดยกล่าวว่า ทรัมป์สนับสนุนให้ปูตินรุกรานพันธมิตรของเรา ด้วยการกล่าวว่า "รัสเซียสามารถทำอะไรก็ได้ที่ต้องการ" ส่วนตัวเธอเองนั้นได้พบกับปธน.เซเลนสกี 5 วันก่อนที่รัสเซียจะส่งกำลังทหารรุกรานยูเครน เพื่อเตือนเขาเรื่องแผนของรัสเซีย

แฟ้มภาพ - รองปธน.คามาลา แฮร์ริส แห่งสหรัฐฯ พบกับปธน.โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ที่การประชุมสันติภาพที่สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2024
แฟ้มภาพ - รองปธน.คามาลา แฮร์ริส แห่งสหรัฐฯ พบกับปธน.โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ที่การประชุมสันติภาพที่สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2024

แฮร์ริส กล่าวด้วยว่า เธอช่วยรณรงค์ให้เกิดการตอบสนองจากมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก เพื่อป้องกันความก้าวร้าวของปูติน และหากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เธอจะยืนหยัดอยางแข็งแกร่งเคียงข้างยูเครนและชาติพันธมิตรองค์การนาโต้

ด้านนักวิเคราะห์เชื่อว่า นโยบายของแฮร์ริสที่มีต่อยูเครนจะไม่แตกต่างจากการสนับสนุนของรัฐบาลโจ ไบเดน ที่ให้กับยูเครนตลอดสองปีครึ่งที่ผ่านมา และเสริมว่า การประกาศนโยบายต่างประเทศของทรัมป์อย่างกว้าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมานั้นยังคงคลุมเครือไม่ชัดเจน เช่น การที่ทรัมป์รับปากว่าจะยุติสงครามยูเครนได้ในหนึ่งวัน

แฟ้มภาพ - อดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ พบกับปธน.โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ที่นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2019
แฟ้มภาพ - อดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ พบกับปธน.โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ที่นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2019

แอนดรูว์ เพย์น อาจารย์ด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคง ที่มหาวิทยาลัยแห่งลอนดอน (University of London) กล่าวว่า "ยังไม่ชัดเจนว่าทรัมป์จะทำเช่นนั้นได้อย่างไร" และว่า "แน่นอนสิ่งที่หวาดกลัวกันก็คือ ทรัมป์จะใช้วิธีทอดทิ้งยูเครน หยุดส่งความช่วยเหลือ และกดดันให้ปธน.เซเลนสกี เข้าสู่การเจรจาในตอนที่ปูตินถือไพ่เหนือกว่า"

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการผู้นี้เชื่อว่า สถานการณ์ในสมรภูมิขณะนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว หลังจากที่ยูเครนตัดสินใจโจมตีข้ามพรมแดนเข้าไปในรัสเซียและยึดครองพื้นที่บางส่วนของรัสเซียเอาไว้

จอห์น เอิบสต์ อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำยูเครน ระบุในบทความที่ตีพิมพ์ใน Atlantic Council เมื่อปลายเดือนที่แล้วว่า การโจมตีของยูเครนในรัสเซียได้สร้างกำลังใจและความฮึกเหิมให้กับประชาชนและบรรดาผู้นำยูเครน

"พวกเขามองว่าการยึดครองพื้นที่กว่า 460 ตารางไมล์ในดินแดนรัสเซียและการจับกุมทหารรัสเซียหลายร้อยคน คือชัยชนะที่ชัดเจน ซึ่งเปลี่ยนแปลงการเจรจาระหว่างประเทศจากที่มุ่งเน้นในการเจรจาสันติภาพหรือการหยุดยิงตามเงื่อนไขของรัสเซีย พวกเขาเริ่มตระหนักแล้วว่าข้อเสนอหยุดยิงที่ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน เสนอนั้นมีความน่าดึงดูดใจน้อยลงต่อรัฐบาลรัสเซีย" อดีตทูตสหรัฐฯ กล่าว

ในขณะที่นักวิเคราะห์ต่างเชื่อว่า ยูเครนจะใช้ดินแดนส่วนที่ยึดไว้ได้ในรัสเซียนี้เป็นเครื่องมือในการต่อรองกับรัสเซีย อาจารย์แอนดรูว์ เพย์น จากมหาวิทยาลัยแห่งลอนดอน ชี้ว่า ปธน.โจ ไบเดน อาจยื่นมือเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ในช่วงเวลาสำคัญได้เช่นกัน

"คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจุดยืนด้านการทหารของสหรัฐฯ ต่อยูเครนในช่วงก่อนการเลือกตั้งเดือน พ.ย. แต่จะจับตามองช่วงเวลาระหว่างเดือน พ.ย. ถึงเดือนมกราคม (เมื่อประธานาธิบดีคนใหม่เข้ารับตำแหน่ง) ว่าจะมีการเพิ่มความช่วยเหลือต่อยูเครนหรือไม่ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไรก็ตาม" นักวิชาการผู้นี้กล่าว

ส่วนอดีตทูตจอห์น เอิบสต์ มองคล้ายกันว่า ปธน.ไบเดน อาจตัดสินใจใช้ช่วงเวลาในเดือนท้าย ๆ ของวาระการดำรงตำแหน่งของเขา เพื่อทำความตกลงกับบรรดาผู้นำพรรครีพับลิกันในรัฐสภา ให้ผ่านกฎหมายฉบับสุดท้ายที่จะช่วยเหลือยูเครนได้เช่นกัน

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG