ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ 'ทรัมป์' เหมือนหรือต่างกับรัฐบาลชุดก่อน?


President Donald Trump delivers remarks on tax reform at the Loren Cook Company in Springfield, Mo., Aug. 30, 2017.
President Donald Trump delivers remarks on tax reform at the Loren Cook Company in Springfield, Mo., Aug. 30, 2017.
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:19 0:00

เจ็ดเดือนหลังเข้ารับตำแหน่ง นโยบายต่างประเทศของ ปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้น แต่แทนที่จะเป็นนโยบายที่แตกต่างชัดเจนจากรัฐบาลชุดก่อนดังที่ ปธน.ทรัมป์ รับปากไว้ตอนหาเสียง บรรดานักวิเคราะห์กลับบอกว่านโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอัฟกานิสถาน ซีเรีย หรือเกาหลีเหนือ แทบไม่แตกต่างจากนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสมัย ปธน. บารัค โอบาม่า

ตัวอย่างเช่น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ปธน.ทรัมป์ ได้กล่าวว่าตนได้เปลี่ยนใจเรื่องการถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถาน โดยจะยังคงให้มีทหารอเมริกันประจำการในอัฟกานิสถานต่อไปเพื่อช่วยเหลือและฝึกฝนกองกำลังของอัฟกานิสถานในการรับมือกับกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ซึ่งไม่แตกต่างจากนโยบายของรัฐบาลโอบาม่า แม้ว่า ปธน.ทรัมป์ จะยืนยันว่าแผนดังกล่าวนั้นไม่เหมือนกับสิ่งที่รัฐบาลชุดก่อนๆ ทำมาตลอด 16 ปีก็ตาม

และแม้ที่ผ่านมา ปธน.ทรัมป์ พยายามชูนโยบาย “America First” หรือ “อเมริกามาก่อน” แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนเน้นย้ำว่า นโยบายที่ว่านี้มิได้หมายความว่าอเมริกาต้องล่าถอยลงจากเวทีโลก แต่อาจเป็นไปในทางตรงกันข้าม

คุณเจมส์ คาราฟาโน่ นักวิเคราะห์แห่งสถาบัน Heritage Foundation เรียกนโยบายต่างประเทศของทรัมป์ว่า “ยุทธศาสตร์การแสดงตัวเชิงรุก” ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ 3 พื้นที่สำคัญ คือ ยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย โดยเน้นความสำคัญทั้งทางการทหารทางเศรษฐกิจและการทูต

แต่ขณะเดียวกัน นโยบายของทรัมป์กลับให้ความสำคัญน้อยลงกับการค้าระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก และความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเม็กซิโก

และในขณะที่ดูเหมือนนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลชุดนี้จะแคบลงกว่ารัฐบาลชุดก่อนๆ ตัว ปธน.ทรัมป์ เองกลับทำให้เกิดความสับสนยิ่งขึ้นผ่านการทวีตข้อความด้านนโยบายต่างๆ ของตน

คุณไบรอัน คาตูริส แห่ง Center for American Progress ชี้ว่า การคาดเดาทิศทางนโยบายจากคำประกาศหรือทวีตของประธานาธิบดีทรัมป์เองนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายและเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน ในขณะที่ดูเหมือนคนรอบตัวของประธานาธิบดี เช่น รมต.กลาโหม รมต.ต่างประเทศ และที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ต่างพยายามรักษาทิศทางนโยบายให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับรัฐบาลชุดก่อนๆ มากกว่า

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักวิเคราะห์ผู้นี้กังวลก็คือ แนวโน้มที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัย ปธน.จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช และ ปธน.โอบาม่า มาจนถึง ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ได้แก่การเพิ่มขึ้นของงบประมาณด้านการทหาร และการใช้เครื่องบินแบบไร้นักบิน หรือโดรน มาใช้ในการโจมตีฝ่ายตรงข้ามมากขึ้น

ปัจจุบัน สหรัฐฯ คือประเทศที่ใช้งบประมาณด้านกลาโหมมากที่สุดในโลก โดยตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 618,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีงบประมาณที่แล้ว ส่วนในร่างงบประมาณใหม่ ปธน.ทรัมป์ เสนอให้เพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมอีก 10% ขณะที่งบประมาณด้านการต่างประเทศและการทูตนั้นลดลงกว่า 30%

XS
SM
MD
LG