การสำรวจความคิดเห็นประชาชนชาวไทยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งโดย แกลลัพ (Gallup) ที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาในวันศุกร์ชี้ให้เห็นว่า เรื่องของเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อปากท้องของผู้คน คือ ประเด็นที่มีบทบาทอย่างมากในการตัดสินว่า พรรคการเมืองใดอาจเป็นฝ่ายมีชัยในการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคมนี้
ในรายงานการวิจัยครั้งล่าสุดนี้ แกลลัพ ระบุว่า ภาพรวมการเมืองของไทยยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่ผ่านมานัก กล่าวคือ ยังคงเป็นเรื่องของ กลุ่มการเมืองและนักการเมืองที่โยกย้ายค่ายไป-มาตามสถานการณ์ แต่สิ่งที่แตกต่างในครั้งนี้ก็คือ นี่เป็นครั้งแรกที่ผู้มีสิทธิ์ที่เป็นเยาวชนและกระแสความไม่พอใจต่อรัฐธรรมนูญที่กองทัพเป็นผู้เขียนขึ้นรวมทั้งบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย คือ ปัจจัยที่ผลักดันทิศทางการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุความไม่สงบในบ้านเมืองมากมายในช่วงประหว่างปี พ.ศ. 2563 และ 2564
แกลลัพ ชี้ด้วยว่า เมื่อเทียบกับชาวไทยที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ระหว่าง 15 ถึง 29 ปีน่าจะไม่ชื่นชอบผลงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2557 และประสบปัญหากระแสความนิยมลดลงมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่หลังการเลือกตั้งทั่วไป ปี ค.ศ. 2562 โดยการสำรวจพบว่า ระดับความนิยมในตัวพลเอกประยุทธ์ของกลุ่มแรกอยู่ที่ 42% ขณะที่ ของกลุ่มหลังนั้นอยู่ที่เพียง 17%
นอกจากนั้น พรรคการเมืองแนวอนุรักษ์นิยมที่นำโดยสมาชิกรัฐบาลชุดปัจจุบันยังต้องพยายามเอาชนะคู่แข่งที่มาจากฝ่ายค้าน เช่น พรรคเพื่อไทย ที่มีแพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร นำทีมและถูกจัดให้เป็นพรรคที่มีคนนิยมชมชอบในระดับต้น ๆ จากการสำรวจหลายสำนักเมื่อเร็ว ๆ นี้ รวมทั้งกับพรรคหัวก้าวหน้าอย่างเช่น พรรคก้าวไกล ที่เป็นที่ชื่นชอบของคนรุ่นใหม่อย่างมาก
คนไทยรู้สึกไม่แน่ใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจ-มาตรฐานการใช้ชีวิต
จากมุมมองทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยน่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายในปีนี้ และประเด็นเหล่านั้นก็อาจมีผลต่อผลการแพ้-ชนะของการเลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคมสูงอายุ การปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญในซีกโลกตะวันตก และภาวะตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะกรณีความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย
และแม้ประเทศไทยจะสามารถเดินหน้าประสบความสำเร็จในการยกระดับสภาวะเศรษฐกิจของตนมาบ้างในช่วงมีกี่ปีที่ผ่านมา ชาวไทยส่วนใหญ่มองว่า เศรษฐกิจของประเทศนั้นแย่ลง โดยผู้ที่มองเช่นนั้นมีสัดส่วนถึง 43% เทียบกับผู้ที่มองว่า ทุกอย่างดูดีขึ้น ที่ 36%
แกลลัพ ระบุว่า มุมมองเชิงลบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของไทยนั้นอยู่ในระดับที่สูงเป็นพิเศษในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีระดับความมั่งคั่งต่ำที่สุดในประเทศ โดย 48% ของประชาชนในภาคนี้มองว่า เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในขาลง ขณะที่ 33% มองว่า กำลังดีขึ้น
รายงานการสำรวจนี้ชี้ด้วยว่า ขณะที่ เศรษฐกิจในภาคอีสานมีภาคเกษตรและการปลูกข้าวเป็นตัวขับเคลื่อน ความจริงที่ว่า การทำนาปลูกข้าวของไทยยังมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพต่ำกว่าของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนามและกัมพูชา ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจรอบ ๆ ตัวไม่ได้ดูมีความหวังมากนัก
รายงานนี้ยังระบุด้วยว่า ชาวไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองคือ กลุ่มที่มองโลกในแง่ลบที่สุด เมื่อพูดถึงสภาพเศรษฐกิจ โดยมีเพียง 27% ของคนกลุ่มดังกล่าวที่มองว่า สถานการณ์กำลังเริ่มดีขึ้น เทียบกับ 45% ที่คิดว่า ทุกอย่างกำลังย่ำแย่ลง
ตัวบ่งชี้เกี่ยวกับความรู้สึกไม่ค่อยพอใจต่อสภาพเศรษฐกิจในประเทศของคนไทยนั้นมีอยู่อยู่หลายอย่าง อาทิ
- คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกว่า สถานการณ์ในประเทศนั้นแย่กว่าในประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลาย ขณะที่ ประชาชนส่วนใหญ่ในทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แกลลัพทำการสำรวจนั้นมองว่า มาตรการการครองชีพของตนเริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว
- สัดส่วนของคนไทยที่ระบุว่า ประสบปัญหาการหาเงินมาใช้จ่ายซื้อหาอาหารในปีที่แล้วปรับเพิ่มขึ้นใน ปี พ.ศ. 2565 มาอยู่ที่ 46% โดยภูมิภาคที่มีปัญหาหนักกว่าใครคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (51%) และภาคเหนือ (50%)
- คนไทยส่วนใหญ่ (58%) โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในเขตเมือง (64%) กล่าวว่า การหางานในพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่นั้นยากมาก ซึ่งตรงข้ามกับประชาชนของประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนที่มีการสำรวจ ยกเว้นเพียงแต่เมียนมาที่ประชาชนมองภาพการหางานในแง่ลบ
สิ่งที่แกลลัพรายงานมานั้นดูจะสะท้อนภาพความเป็นจริงในสนามเลือกตั้งนี้ได้อย่างดี เมื่อผู้สมัครจากพรรคต่าง ๆ แสดงจุดยืนให้ความสำคัญเกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจในการรณรงค์หาเสียงมากมาย โดยมีการนำเสนอแผนช่วยเหลือต่าง ๆ เช่น นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับสตรีที่มีบุตร และการนำเสนอสวัสดิการมากมายให้กับผู้สูงอายุ เป็นต้น
แกลลัพ ชี้ว่า การดำเนินนโยบายประชานิยมเช่นนี้มุ่งเป้าไปยังประชาชนที่มีความกังวลเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจอย่างชัดเจน แต่ผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ชี้ว่า นโยบายเหล่านี้มีแต่จะเพิ่มภาระทางการเงินให้กับรัฐบาลโดยไม่ได้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้สักเท่าใดเลย
ท้ายสุด บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์และให้คำปรึกษาแห่งนี้สรุปว่า ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งปีนี้ ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยต่อภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยเท่าใดนัก เพราะสมาชิกจากกลุ่มอภิสิทธิ์ชน ไม่ว่าจะเป็นอดีตนายพลหรือสมาชิกจากครอบครัวมหาเศรษฐีที่มีความใกล้ชิดแนบแน่นกับการเมืองไทยมาหลายทศวรรษ คือ ผู้มีโอกาสสูงที่จะมีชัยในครั้งนี้ แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือ ผู้ที่กำชัยได้จะต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจมากมายและภารกิจหินในการฟื้นฟูศรัทธาในรัฐบาลให้ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มคนไทยรุ่นใหม่
- ที่มา: รายงานการวิจัยโดยแกลลัพ (Gallup)