รายงานวิเคราะห์ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยภายใต้การนำของรัฐบาลทหาร มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นไปอย่างเชื่องช้ากว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเดียวกัน เนื่องมาจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้นักทุนยังคงขาดความเชื่อมั่น
ธนาคารโลกและสหประชาชาติคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ต่อเนื่องไปถึงปี พ.ศ. 2562 จะเติบโตที่ระดับประมาณ 3% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเดียวกัน
โดยคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียแปซิฟิกหรือ UNESCAP คาดการณ์ว่า ในปีหน้าเศรษฐกิจกัมพูชาน่าจะขยายตัวราว 8% เศรษฐกิจมาเลเซีย 4.5% ฟิลิปปินส์ 7% และเวียดนาม 6.7%
เศรษฐกิจของไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ มาตั้งแต่ปีที่แล้ว หลังจากหดตัวลงเมื่อปี พ.ศ. 2557 ในช่วงที่เกิดการประท้วงรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งตามมาด้วยการรัฐประหาร
จนมาถึงในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ที่เศรษฐกิจไทยเติบโตที่ระดับ 3.3% และนักวิเคราะห์เชื่อว่าแนวโน้มการเติบโตจะอยู่ที่ระดับประมาณนี้ไปอีกหลายปี
คุณ Kryatal Tan นักเศรษฐศาสตร์ของ Capital Economics กล่าวว่า "การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะดำเนินต่อไป โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่จะได้ประโยชน์จากความต้องการจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น"
นักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้ยังบอกด้วยว่า บรรยากาศทางการเมืองที่ค่อนข้างสงบตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ได้ส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวให้เติบโตขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับรายงานสำรวจของ UNESCAP ที่ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการใช้นโยบายด้านการคลังของรัฐบาลไทย
ด้าน ดร. ลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ชี้ว่า "การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะดำเนินอย่างต่อเนื่องในระยะยาว เมื่อพิจารณาจากการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น และการลงทุนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคขนาดใหญ่"
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางคนชี้ว่าสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่ยังไม่แน่นอน ได้บั่นทอนความพยายามในการปฏิรูปเศรษฐกิจและการสร้างความสามารถด้านการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมของไทยพอสมควร
รศ.ดร. ภวิดา ปานะนนท์ แห่งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า "แม้เศรษฐกิจไทยในช่วงสามปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลทหาร มิได้ตกต่ำลง แต่ก็มิได้ขยายตัวมากนัก และขณะนี้ก็กำลังเผชิญความเสี่ยงที่เกิดจากสถานการณ์การเมืองของไทยเอง"
รศ.ดร. ภวิดา อธิบายว่า นักลงทุนต่างชาติล้วนทราบดีว่าการเมืองไทยยังคงไม่แน่นนอน เพราะรากเหง้าของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข การปฏิรูปและการปรองดองยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่ที่ดูเหมือนคลื่นลมยังสงบอยู่ในตอนนี้ ก็เพราะมีกองทัพคอยควบคุมสถานการณ์อยู่
รศ.ดร. ภวิดา ปานะนนท์ ให้ความเห็นด้วยว่า การที่รัฐบาลไทยพยายามควบคุมสื่อต่างๆ รวมทั้ง Facebook ยังเปรียบเสมือนการส่งสัญญาณเตือนภัยไปยังบรรดานักลงทุน ถึงความไม่แน่นอนของการเมืองและเศรษฐกิจไทย
โดยเฉพาะในภาคเทคโนโลยีดิจิตัลที่รัฐบาลพยายามสนับสนุนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
(ผู้สื่อข่าว Ron Corben รายงานจากกรุงวอชิงตัน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)