แม้ว่าในช่วงหลายวันที่ผ่านมา รัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้พยายามหาทางกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แต่ผลสำรวจชิ้นใหม่ทางอินเทอร์เน็ตชี้ให้เห็นว่า ความมั่นใจในความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับอาเซียน อยู่ในจุดที่ต่ำอย่างยิ่ง
ผลการสำรวจทางอินเทอร์เน็ตที่ใช้ชื่อว่า “ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มองรัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไร?” ซึ่งจัดทำโดยศูนย์อาเซียนศึกษาของสถาบัน ISEAS – Yusof Ishak ได้สอบถามความเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้นำธุรกิจ ผู้นำประชาชน นักวิชาการ และสื่อมวลชน กว่า 300 คนในหลายประเทศของอาเซียน
และพบว่า 43% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เชื่อว่ารัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่มีความสนใจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เทียบกับ 37% ที่เชื่อว่ามีความสนใจ
นอกจากนี้มี 43% เช่นกันที่เชื่อว่า สหรัฐฯ จะมีบทบาทในอาเซียนน้อยลง และสหรัฐฯ มิได้เป็นพันธมิตรที่พึ่งพาได้ ซึ่งแตกต่างจากความเห็นเมื่อราวสี่เดือนที่แล้ว ก่อนที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
ในสมัยของประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า รัฐบาลสหรัฐฯ ค่อนข้างมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศแถบอาเซียน ผ่านนโยบายมุ่งเน้นมาทางเอเชีย หรือ Asia Pivot ซึ่งแตกต่างจากช่วง 100 วันแรกในสมัยของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ดูจะให้ความสำคัญกับประเทศในแถบนี้น้อยลงเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ
แต่ในช่วงไม่กี่วันมานี้ เห็นได้ชัดว่ารัฐบาล ปธน.ทรัมป์ ได้พยายามที่จะลบความกังวลดังกล่าว ด้วยการเป็นฝ่ายยื่นมือไปหาบรรดาผู้นำประเทศในแถบอาเซียน เช่นการที่ ปธน.ทรัมป์ โทรศัพท์เชื้อเชิญนายกรัฐมนตรีไทย ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และผู้นำสิงคโปร์ ให้เยือนทำเนียบขาว
รวมทั้งการจัดประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ดร. Tang Siew Mun ผอ.ศูนย์อาเซียนศึกษาของสถาบัน ISEAS – Yusof Ishak กล่าวว่า "ไม่น่าแปลกที่ผู้คนส่วนใหญ่ในอาเซียนต่างมีความเห็นที่ไม่ดีนักต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดนี้ แต่ที่ตนประหลาดใจคือระดับความเข้มข้นของทัศนคติในแง่ลบดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการขาดความมั่นใจและความไว้เนื้อเชื่อใจในรัฐบาลทรัมป์"
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการผู้นี้ชี้ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ควรนำเอาผลสำรวจครั้งนี้ไปตีความว่าเป็นการไม่ยอมรับอเมริกาในหมู่ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ควรมองว่าเป็นเสียงเรียกร้องให้สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า
ในขณะเดียวกัน ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่ากระแสนิยมจีนกำลังเพิ่มขึ้นในแถบอาเซียน โดย 51% ของผู้ตอบแบบสอบถาม บอกว่าสหรัฐฯ ได้พ่ายแพ้ด้านยุทธศาสตร์ให้กับจีนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ ปธน.ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่ง
และ 73% บอกว่าจีนคือประเทศที่มีอิทธิพลมากที่สุดในอาเซียน โดยมีเพียง 3.5% ที่ระบุว่าสหรัฐฯ มีอิทธิพลมากที่สุดในแถบนี้
ประเด็นหนึ่งที่มีการจับตามองอย่างมากเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐฯ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือความสัมพันธ์ของรัฐบาลสหรัฐฯ กับรัฐบาลเมียนม่าภายใต้การนำของนางอองซาน ซูจี หลังจากนางซูจีซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของเมียนม่าด้วยนั้น มิได้เดินทางไปร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศที่กรุงวอชิงตันตามคำเชิญของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และเพียงแต่ส่งตัวแทนไปเท่านั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณโซ หมิ่น อ่อง นักวิเคราะห์แห่งสถาบัน Tagaung ในนครย่างกุ้ง ชี้ว่า "อาจต้องใช้เวลาสักระยะ กว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์และนางอองซาน ซูจี จะเริ่มเห็นความสำคัญของการสานสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอย่างจริงจัง"
นักวิเคราะห์ชาวพม่าผู้นี้เชื่อว่า สำหรับ ปธน.ทรัมป์ ความสำคัญของอาเซียนมิได้อยู่ที่เมียนม่าประเทศเดียว แต่หมายถึงทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน
ส่วนนางซูจีเองก็ดูเหมือนกำลังให้ความสำคัญกับการกระชับสัมพันธ์กับมิตรประเทศทางยุโรป มากกว่าอเมริกา
(ผู้สื่อข่าว Joe Freeman รายงานจากนครย่างกุ้ง / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)