การท่องเที่ยวในหลายประเทศของกลุ่มอาเซียนกำลังขยายตัว โดยปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งมาจากชนชั้นกลางและระดับรายได้ที่สูงขึ้นรวมทั้งจากการขยายตัวของบริการสายการบินต้นทุนต่ำด้วย
แต่นักวิเคราะห์เตือนว่า การขยายตัวของตลาดการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็วนี้สร้างปัญหากดดันต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และเตือนให้รัฐบาล รวมทั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศอาเซียน ให้ความสนใจกับคุณภาพและการดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ตนต้องการ มากกว่าที่จำนวนนักท่องเที่ยว
รวมทั้งเน้นนโยบายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วย
องค์การ World Travel and Tourism Council หรือ WTTC คาดการณ์ว่าบทบาทของการท่องเที่ยวที่มีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้จะเพิ่มขึ้น 5.6 % ในช่วง 10 ปีข้างหน้า คิดเป็นมูลค่ากว่า 528,000 ล้านดอลลาร์
และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ช่วยจ้างงานทั้งโดยตรงและทางอ้อม สำหรับผู้คนราว 32 ล้านคนในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย
ส่วนบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน CLSA ก็ชี้ว่า มีโอกาสการลงทุนมากมายที่รออยู่ในภาคการท่องเที่ยว นับตั้งแต่โรงแรมและที่พักตากอากาศ ไปจนถึงระบบคมนาคมขนส่ง การรักษาความปลอดภัย และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่มาพร้อมการขยายตัวของการท่องเที่ยว คือบุคลากรและระบบสนับสนุนที่เพียงพอ โดยเฉพาะสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำที่ช่วยรองรับนักท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างเช่น นักท่องเที่ยวของจีนที่เดินทางออกนอกประเทศได้เพิ่มขึ้นถึง 700% ในช่วง 15 ปี คือจาก 10 ล้านคนเมื่อปี 2543 มาเป็น 78 ล้านคนในปี 2558
และสำหรับของไทยนั้น คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นจาก 32 ล้านคนในขณะนี้เป็น 50 ล้านคนภายในปี 2564 เช่นกัน