ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ไม่แคร์! ‘ปูติน’ เมินหมายจับศาลโลก เดินทางเยือนมองโกเลีย


ปธน.วลาดิเมียร์ ปูตินและปธน.คูเรลซูค อุคนา แห่งมองโกเลีย ร่วมหารือกันที่กรุงอูลานบาตอร์ เมื่อ 3 ก.ย. 2567
ปธน.วลาดิเมียร์ ปูตินและปธน.คูเรลซูค อุคนา แห่งมองโกเลีย ร่วมหารือกันที่กรุงอูลานบาตอร์ เมื่อ 3 ก.ย. 2567

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เดินทางเยือนมองโกเลียในวันอังคาร ขณะที่ ประเทศเจ้าภาพไม่ได้ส่งสัญญาณใด ๆ ว่า จะตอบรับคำเรียกร้องให้มีการจับกุมตัวผู้นำรัสเซียตามหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศในข้อหาก่ออาชญากรรมต่าง ๆ ที่สืบเนื่องมาจากการส่งกองทัพรุกรานยูเครน

การเดินทางครั้งนี้เป็นครั้งแรกของปูตินไปยังประเทศที่เป็นสมาชิกของศาลอาญาระหว่างประเทศ นับตั้งแต่มีการออกหมายจับเมื่อ 18 เดือนก่อน และหมายจับนี้ก็ทำให้รัฐบาลมองโกเลียอยู่ในจุดที่ลำบากใจไม่น้อย เพราะสนธิสัญญาก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งก็คือ ธรรมนูญกรุงโรม (Rome Statute) ระบุว่า ประเทศสมาชิกนั้นต้องควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยตามหมายจับของศาล

แต่มองโกเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลและมีพรมแดนติดรัสเซีย ก็ต้องพึ่งพาเพื่อนบ้านมหาอำนาจนี้อย่างมาก โดยเฉพาะในด้านเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้า

และเมื่อปูตินเดินทางถึงกรุงอูลานบาตอร์ ผู้นำรัสเซียได้รับการต้อนรับอย่างเป็นทางการที่จัตุรัสกลางเมืองหลวงของมองโกเลีย โดยกองทหารเกียรติยศในเครื่องแบบสไตล์เดียวกับชุดของกองทหารส่วนพระองค์ของเจงกิสข่าน ผู้ก่อตั้งอาณาจักรมองโกเลียในศตวรรษที่ 13

จากนั้น ปูตินและประธานาธิบดีคูเรลซูค อุคนา แห่งมองโกเลีย เดินตามพรมแดงไปยังอาคารทำเนียบรัฐบาลและก้มคารวะต่อรูปปั้นของเจงกิสข่าน ก่อนจะเข้าร่วมประชุมกันต่อไป

ก่อนพิธีต้อนรับจะเริ่มขึ้น มีผู้ชุมนุมกลุ่มเล็ก ๆ รวมตัวกันพร้อมกับพยายามโบกธงยูเครน แต่ตำรวจสามารถนำตัวผู้ประท้วงทั้งหมดออกไปจากพื้นที่งานได้

สื่อ RIA Novosti ของทางการรัสเซีย รายงานว่า ในระหว่างการประชุม ปูตินได้แจ้งต่อคูเรลซูค ว่า ความสัมพันธ์ของสองประเทศ “กำลังพัฒนาในหลายด้าน” ทั้งยังได้เชิญประธานาธิบดีมองโกเลียมาร่วมการประชุมกลุ่มประเทศ BRICS ที่เมืองคาซานของรัสเซียในช่วงปลายเดือนตุลาคมด้วย และคูเรลซูคก็ตอบรับแล้ว

ปธน.คูเรลซูค อุคนา แห่งมองโกเลียและปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน ร่วมพิธีวางพวงหรีดที่อนุสาวรีย์ของนายพลจอร์จี ชูคอฟ แห่งโซเวียต ที่กรุงอูลานบาตอร์ เมื่อ 3 ก.ย. 2567
ปธน.คูเรลซูค อุคนา แห่งมองโกเลียและปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน ร่วมพิธีวางพวงหรีดที่อนุสาวรีย์ของนายพลจอร์จี ชูคอฟ แห่งโซเวียต ที่กรุงอูลานบาตอร์ เมื่อ 3 ก.ย. 2567

นอกจากการประชุมต่าง ๆ แล้ว ปูตินยังจะเข้าร่วมพิธีฉลองครบรอบ 85 ปีของชัยชนะร่วมของโซเวียตและมองโกเลียในการขับไล่กองทัพญี่ปุ่นที่ควบคุมพื้นที่แคว้นแมนจูเรียทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนที่ทำให้ทหารนับพันของทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตในปี 1939 หลังมีการต่อสู้กันมาหลายเดือน

ก่อนที่ผู้นำรัสเซียจะเดินทางถึงมองโกเลีย ยูเครนได้เรียกร้องให้มองโกเลียนำตัวปูตินส่งศาลอาญาโลกที่กรุงเฮก ขณะที่ ชาวรัสเซียที่อยู่นอกประเทศกว่า 50 คนได้ลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกที่ส่งให้กับรัฐบาลมองโกเลียเพื่อขอให้ “ควบคุมตัววลาดิเมียร์ ปูติน ทันทีที่เดินทางถึง” ด้วย

ส่วนสหภาพยุโรป (อียู) แสดงความกังวลในวันจันทร์ว่า มองโกเลียอาจไม่สนใจหมายจับนี้ โดย นาบิลา มัสสราลิ โฆษกคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า “เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ มองโกเลียมีสิทธิ์ที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่สะท้อนผลประโยชน์ของตน” และว่า “มองโกเลียเป็นรัฐภาคีของธรรมนูญกรุงโรมของศาลอาญาระหว่างประเทศตั้งแต่ปี 2002 และมีภาระผูกพันทางกฎหมายตาม(ธรรมนูญ)นี้”

โฆษกของปูตินกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เครมลินไม่กังวลประเด็นหมายจับเลย และดมิทรี เมดเวเดฟ รองเลขาธิการสภาความมั่นคงรัสเซีย ระบุในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ทางออนไลน์ในวันอังคารว่า หมายจับปูตินนั้นเป็นสิ่งที่ “ผิดกฎหมาย” และผู้ที่ดำเนินการต่าง ๆ นั้นเป็น “พวกคนบ้าวิกลจริต”

ทั้งนี้ ศาลอาญาโลกไม่ได้มีกลไกใด ๆ ที่จะสามารถนำมาใช้เพื่อบังคับใช้หมายจับของตน

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ปูตินได้เดินทางเยือนหลายประเทศเพื่อโต้การที่นานาชาติเดินหน้าโดดเดี่ยวรัสเซียที่ส่งทัพรุกรานยูเครน โดยได้เยือนจีนเมื่อเดือนพฤษภาคม ก่อนจะไปเดินทางไปเกาหลีเหนือและเวียดนามในเดือนมิถุนายน และไปคาซัคสถานในเดือนกรกฎาคมเพื่อร่วมประชุมองค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้

เองค์เกอเรล เซเดด ชาวมองโกเลียซึ่งศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงมอสโก ให้ความเห็นว่า เมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์แล้วจะพบว่า ประเทศที่มีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างกันจะไม่ทำการจับกุมผู้นำรัฐบาลในช่วงที่มีการเยือนอย่างเป็นทางการ พร้อมกล่าวว่า “ประเทศของเรามีภาระผูกพันต่อประชาคมโลก” และว่า “แต่ ดิฉันคิดว่า ในกรณีนี้ มันจะไม่เป็นการเหมาะสมที่จะทำการจับกุมอยู่ดี”

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG