รัฐบาลเครมลินกล่าวว่าไม่กังวลเกี่ยวกับแผนการเยือนประเทศมองโกเลียของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แม้ว่าศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC ออกหมายจับผู้นำรัสเซียรายนี้เมื่อปีที่เเล้ว และมองโกเลียเป็นสมาชิกของศาลดังกล่าว
ปูตินมีกำหนดเยือนมองโกเลียวันที่ 3 กันยายน โดยจะเป็นครั้งเเรกที่เขาเยือนประเทศสมาชิก ICC หลังจากที่องค์กรตุลาการระหว่างประเทศแห่งนี้ออกหมายจับเขาเมื่อเดือนมีนาคมปีที่เเล้ว สืบเนื่องจากข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน
ภายใต้สนธิสัญญาที่เรียกว่า Rome Statute ซึ่งเป็นเอกสารการก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ สมาชิกของศาลแห่งนี้จะต้องควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย หากว่าบุคคลดังกล่าวถูกศาลออกหมายจับ และอยู่ในแผ่นดินของประเทศสมาชิก
อย่างไรก็ตาม ศาลไม่มีกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย
คดีดังในอดีตที่คล้าย ๆ กัน เกิดขึ้นเมื่อราว 9 ปีก่อน ที่ประธานาธิบดีซูดานในตอนนั้น โอมาร์ อัล-บาเชียร์ เดินทางไปแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นสมาชิก ICC แต่เขาไม่ถูกจับกุมตัว
เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงและเสียงประณามจากองค์กรสิทธิ์ รวมทั้งพรรคฝ่ายค้านของแอฟริกาใต้
เมื่อวันศุกร์ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย ดมิทรี เพสคอฟกล่าวกับผู้สื่อข่าวในการเเถลงข่าวประจำวัน ว่ารัฐบาลเครมลิน "ไม่มีความกังวล" เกี่ยวกับการเยือนมองโกเลียของปูติน
"เรามีการหารือกันอย่างดีเลิศกับเพื่อนของเราจากมองโกเลีย" เพสคอฟกล่าว
ก่อนหน้านี้เพสคอฟย้ำว่ารัสเซียไม่ยอมรับขอบเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ
โฆษกของศาล ICC ฟาดี อับดัลลาห์ ย้ำในเเถลงการณ์วันศุกร์ว่า มองโกเลียรับรองสนธิสัญญาก่อตั้งศาลแห่งนี้ ดังนั้นจึงมีพันธะที่จะต้องร่วมมือกับ ICC
ในการเดินทางครั้งนี้ ปูตินได้รับเชิญจากประธานาธิบดีมองโกเลีย อุคห์นา คูเรคซุคห์ ซึ่งจะจัดงานครบรอบ 85 ปีแห่งชัยชนะร่วมของกองทัพรัสเซียและมองโกเลียในการต่อสู้กับทหารญี่ปุ่น ที่เเม่น้ำคัลคินโกล
ผู้นำทั้งสองมีกำหนดเจรจากัน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของมองโกเลียเข้าร่วมด้วย
ทั้งนี้ศาล ICC ตั้งข้อหาปูตินว่าต้องรับผิดชอบกับการลักพาตัวเด็ก ๆ ยูเครน ในช่วงที่มอสโกทำสงครามในยูเครนยาวนาน 2 ปี ครึ่งแล้ว ณ เวลานี้
หมายจับประธานาธิบดีปูติน เมื่อปีที่เเล้วเป็นครั้งเเรกที่ ICC ดำเนินมาตรการดังกล่าวต่อผู้นำประเทศที่เป็นหนึ่งใน 5 สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
ศาลยังได้ตัดสินว่ามาเรีย ลโววา-เบโลวา ผู้เเทนพิเศษรัสเซียด้านสิทธิเด็ก กระทำผิดในเรื่องนี้ด้วย นอกจากนั้นบุคคลที่ถูกออกหมายจับรายอื่น ๆ ประกอบด้วยอดีตรัฐมนตรีกลาโหมรัสเซียเซอร์เก ชอยกู และเสนาธิการใหญ่ฯ วาเลอรี เกราซิมอฟ
เมื่อปีที่เเล้วรัสเซียแสดงความไม่พอใจที่ประเทศอาร์เมเนีย ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ ตัดสินใจเข้าร่วม ICC โดยเหตุการณ์นี้ช่วยเพิ่มความตึงเครียดของทั้งสองประเทศ
ต่อมาเจ้าหน้าที่อาร์เมเนียรีบคลี่คลายความกังวลด้วยการยืนยันต่อรัสเซียว่าประธานาธิบดีปูตินจะไม่ถูกจับถ้าเดินทางเข้ามาในประเทศ
- ที่มา: เอพี