บังเกอร์นิวเคลียร์กำลังขายดีเทน้ำเทท่าไปทั่วโลก แม้ผู้เชี่ยวชาญจะมองว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ของที่ต้องมีเพื่อให้รอดพ้นจากหายนะนิวเคลียร์ พร้อมชี้เป้าพิกัดหลบภัยใกล้ตัวที่คาดไม่ถึง!
ตลาดหลุมหลบภัยสงคราม ระเบิดนิวเคลียร์ และหายนะต่าง ๆ ในสหรัฐฯ คาดว่าจะเติบโตจาก 137 ล้านดอลลาร์เมื่อปีก่อน มาอยู่ที่ 175 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 อ้างอิงจากรายงานวิจัยตลาดของ BlueWeave Consulting จากความกังวลเรื่องภัยคุกคามนิวเคลียร์ที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามตะวันออกกลาง และภาวะโรคระบาด
รอน ฮับบาร์ด ซีอีโอของ Atlas Survival Shelters ในซัลเฟอร์สปริงส์ รัฐเท็กซัส ผู้ผลิตบังเกอร์นิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เผยว่า “ผู้คนไม่สบายใจและต้องการหาที่ปลอดภัยสำหรับครอบครัว และคิดว่ามีดีกว่าไม่มีเลย”
แต่สำนักงานจัดการภัยพิบัติของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (Federal Emergency Management Agency - FEMA) ระบุในเอกสารคำแนะนำรับมือภัยคุกคามนิวเคลียร์ว่า บังเกอร์นี้ไม่มีความจำเป็น แต่ให้เน้นการอยู่ภายในอาคาร ชั้นใต้ดิน ให้ห่างจากกำแพงด้านนอกอาคาร เป็นเวลาอย่างน้อย 1 วันหลังนิวเคลียร์ปะทุขึ้น
ไมเคิล ดิลลอน นักวิทยาศาสตร์จาก Lawrence Livermore National Laboratory ที่ออกแบบอาวุธนิวเคลียร์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ชี้ว่า หลังนิวเคลียร์ระเบิดขึ้น จะใช้เวลา 15 นาทีที่กัมมันตรังสีไปถึงพื้นที่รัศมี 1 ไมล์หรือไกลกว่านั้นจากจุดทิ้งระเบิด ดังนั้นอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัยสามารถเป็นที่หลบภัยที่ดีได้ทั้งนั้น อาทิ ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่มีเสบียงเพียงพอสำหรับ 1-2 วันที่หลบภัยก่อนเริ่มอพยพถือเป็นพิกัดปลอดภัยใกล้ตัวที่ดี
ทั้งนี้ นักเคลื่อนไหวด้านการปลดอาวุธนิวเคลียร์ ชี้ว่า เราจะรอดจากสงครามนิวเคลียร์ได้ หากประเทศผู้ครอบครองอาวุธทำลายล้างสูงนี้ผลักดันการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์
- ที่มา: เอพี
กระดานความเห็น