ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยสหรัฐฯ เผยภาพฐานยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์รุ่นใหม่ของรัสเซีย


ภาพถ่ายดาวเทียมที่ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม โดยบริษัทดาวเทียมเพื่อการพาณิชย์ แพลเน็ทแล็บส์ (Planet Labs) พบสถานที่ก่อสร้างอาคารที่เชื่อว่าเป็นโกดังเก็บหัวรบนิวเคลียร์ ในจุดที่เรียกว่า โวลอกดา-20 (Vologda-20) และ เชบซารา (Chebsara) อยู่ห่างจากกรุงมอสโกไปทางเหนือราว 475 กม.
ภาพถ่ายดาวเทียมที่ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม โดยบริษัทดาวเทียมเพื่อการพาณิชย์ แพลเน็ทแล็บส์ (Planet Labs) พบสถานที่ก่อสร้างอาคารที่เชื่อว่าเป็นโกดังเก็บหัวรบนิวเคลียร์ ในจุดที่เรียกว่า โวลอกดา-20 (Vologda-20) และ เชบซารา (Chebsara) อยู่ห่างจากกรุงมอสโกไปทางเหนือราว 475 กม.

นักวิจัยสหรัฐฯ กล่าวว่า สามารถค้นพบสถานที่ที่เชื่อว่าเป็นฐานยิงขีปนาวุธรุ่นใหม่ของรัสเซีย 9M370 บูเรเวสต์นิก (Burevestnik) ซึ่งใช้พลังงานนิวเคลียร์และสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน กล่าวไว้ว่า ขีปนาวุธรุ่นใหม่นี้ "ไม่อาจทำลายได้" มีพิสัยการโจมตีอย่างไม่จำกัด และสามารถหลบเลี่ยงระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ ได้

แต่ผู้เชี่ยวชาญตะวันตกโต้แย้งคำกล่าวของปูตินและการอวดอ้างสรรพคุณของขีปนาวุธรุ่นนี้ต่อชาวโลก โดยกล่าวว่า ขีปนาวุธบูเรเวสต์นิก หรือที่องค์การนาโต้เรียกว่า SSC-X-9 สกายฟอลล์ (Skyfall) มิได้เสริมศักยภาพใด ๆ ให้กับสิ่งที่กองทัพรัสเซียมีอยู่แล้ว และยังเสี่ยงต่อการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีอีกด้วย

นักวิจัยใช้วิธีตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียมที่ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม โดยบริษัทดาวเทียมเพื่อการพาณิชย์ แพลเน็ทแล็บส์ (Planet Labs) และพบสถานที่ก่อสร้างอาคารที่เชื่อว่าเป็นโกดังเก็บหัวรบนิวเคลียร์ ในจุดที่เรียกว่า โวลอกดา-20 (Vologda-20) และ เชบซารา (Chebsara) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงมอสโกไปทางเหนือราว 475 กม.

สำนักข่าวรอยเตอร์เป็นสื่อแห่งแรกที่รายงานเรื่องนี้

"อาวุธที่ไม่เหมือนใคร"

เดกเกอร์ เอฟเวเลธ นักวิเคราะห์แห่งองค์กรวิจัย CNA ผู้ตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียมดังกล่าว ระบุว่า กำลังมีการก่อสร้างแท่นยิงแบบตั้ง 9 จุด ซึ่งแยกจากกันเป็นสามกลุ่ม และพบอาคารที่เชื่อว่าใช้ในการเก็บรักษาและซ่อมบำรุงขีปนาวุธเหล่านั้น และบังเกอร์ที่ใช้เก็บหัวรบนิวเคลียร์อีก 5 แห่ง

ทั้งรัฐบาลรัสเซียและสหรัฐฯ ต่างปฏิเสธ หรือไม่ตอบรับคำขอแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้เมื่อทางรอยเตอร์ติดต่อไป

ขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ICBM) ซาร์มัต (Sarmat) รุ่นใหม่ล่าสุดของกองทัพรัสเซีย
ขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ICBM) ซาร์มัต (Sarmat) รุ่นใหม่ล่าสุดของกองทัพรัสเซีย

เอฟเวเลธ และ เจฟเฟอรี ลิวอิส นักวิจัยอีกผู้หนึ่งแห่งสถาบันมิดเดิลบิวรีเพื่อการศึกษาระหว่างประทศ ที่มอนเทอเรย์ ชี้ว่า การพบสถานที่ที่เชื่อว่าเป็นจุดยิงขีปนาวุธดังกล่าวนั้นแสดงให้เห็นว่า รัสเซียกำลังเดินหน้าติดตั้งขีปนาวุธ หลังจากที่ประสบปัญหาหลายอย่างจากการทดสอบในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

รายงานเมื่อปี 2020 โดยศูนย์ข่าวกรองด้านอากาศและอวกาศแห่งชาติของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ระบุว่า หากรัสเซียประสบความสำเร็จในการติดตั้งขีปนาวุธบูเรเวสต์นิก จะทำให้รัสเซียมี "อาวุธที่ไม่เหมือนใครซึ่งสามารถโจมตีพิสัยไกลข้ามทวีป"

อย่างไรก็ตาม บูเรเวสต์นิกมีผลการทดสอบที่ไม่ดีนักอ้างอิงจากข้อมูลขององค์กร Nuclear Threat Initiative (NTI) โดยเชื่อว่าจากการทดสอบอย่างน้อย 13 ครั้งตั้งแต่ปี 2016 ประสบความสำเร็จบางส่วนเพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น

พาเวล พอดวิก ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ที่นครเจนีวา ชี้ว่า ขีปนาวุธเบรูเวสต์นิกมิได้เพิ่มศักยภาพด้านนิวเคลียร์ใด ๆ ที่รัสเซียยังไม่มี และจะไม่ช่วยให้รัสเซียสามารถเอาชนะระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ ได้

ขณะที่นักวิเคราะห์คนอื่นเชื่อว่า ขีปนาวุธพลังงานนิวเคลียร์นี้จะเพิ่มความเสี่ยงด้านการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีทั้งบริเวณจุดที่มีการติดตั้งและในเส้นทางที่ขีปนาวุธนี้บินผ่าน

โธมัส คันทรีแมน อดีตเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า "ขีปนาวุธสกายฟอลล์ (เบรูเวสต์นิก) คืออาวุธที่โง่เขลาอย่างไม่มีใครเหมือน ถือเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลที่บินได้ซึ่งจะสร้างภัยคุกคามให้แก่รัสเซียเองมากกว่าประเทศอื่น"

เพิ่มอำนาจการต่อรองระหว่างประเทศ

เมื่อปี 2018 ปธน.ปูติน ประกาศว่า ขีปนาวุธบูเรเวสต์นิกสามารถบินในระดับต่ำในพิสัยที่เกือบไม่จำกัด ไม่อาจคาดคำนวณทิศทาง และไม่สามารถทำลายได้ด้วยระบบป้องกันขีปนาวุธทุกชนิดที่มีอยู่ในปัจจุบันและอนาคต

โดยรัสเซียเผยว่า ขีปนาวุธรุ่นนี้จะเดินทางได้ไกล 23,000 กม. เทียบกับขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ICBM) ซาร์มัต (Sarmat) รุ่นใหม่ล่าสุดของกองทัพรัสเซีย ที่เดินทางได้ไกลกว่า 17,700 กม.

แต่นักวิเคราะห์จำนวนมากไม่เชื่อเช่นนั้น โดยให้เหตุผลว่า ยิ่งขีปนาวุธเดินทางได้ไกลมากเท่าไรก็ยิ่งใช้เวลานานขึ้น และจะเพิ่มโอกาสที่จะถูกตรวจจับได้มากขึ้นเท่านั้น

ถึงกระนั้น ขีปนาวุธบูเรเวสต์นิกนี้จะไม่ถูกห้ามประจำการภายใต้สนธิสัญญาควบคุมหัวรบนิวเคลียร์ที่เรียกว่า New START ซึ่งรัสเซียทำไว้กับสหรัฐฯ และจะหมดอายุลงในปี 2026 ซึ่งหมายความว่า การนำขีปนาวุธนี้เข้าสู่คลังสรรพาวุธของรัสเซียอาจจะช่วยให้รัฐบาลกรุงมอสโกมีอำนาจต่อรองมากขึ้นเมื่อถึงการเจรจาสนธิสัญญา New START รอบใหม่ในอีก 2 ปีข้างหน้า

พาเวล พอดวิก ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ เชื่อว่า ขีปนาวุธบูเรเวสต์นิกเป็น "อาวุธทางการเมือง" ที่ปูตินนำมาใช้เสริมภาพลักษณ์อันแข็งแกร่งของตนเอง และส่งสัญญาณไปถึงกรุงวอชิงตันในคราวเดียวกันว่า อย่าประมาทศักยภาพของกองทัพรัสเซีย

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG