ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อินเดีย-บังกลาเทศ หวั่น! จีนสร้างเขื่อนยักษ์เหนือแม่น้ำพรหมบุตร


School children ride on a boat with their bicycles to cross the river Brahmaputra in Kasoshila village on the outskirts of Gauhati, India, Monday, Oct. 21, 2019.
School children ride on a boat with their bicycles to cross the river Brahmaputra in Kasoshila village on the outskirts of Gauhati, India, Monday, Oct. 21, 2019.

โครงการสร้างเขื่อนของจีนบนตอนเหนือของแม่น้ำพรหมบุตรที่ไหลผ่านประเทศอินเดียและบังกลาเทศ กำลังสร้างความกังวลให้กับรัฐบาลและประชาชนของทั้งสองประเทศดังกล่าวซึ่งต้องพึ่งพาแม่น้ำสายนี้ และอาจกลายเป็นชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ระหว่างจีนกับอินเดีย

เมื่อเดือนพฤศจิกายน บริษัท Power Construction Corporation of China ประกาศแผนสร้างเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำยาร์ลุงซางโป (Yarlung Tsangpo) หรือที่อินเดียเรียกว่า แม่น้ำพรหมบุตร (Brahmaputra) โดยยังไม่ระบุว่าจะเริ่มการก่อสร้างเมื่อใด

บรรดานักวิเคราะห์ในอินเดียต่างเกรงว่าโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในแถบต้นน้ำจะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมฉับพลันหรือภัยแล้งในประเทศแถบตอนล่างของแม่น้ำ นอกจากนี้การที่โครงการดังกล่าวมีแผนจะก่อสร้างบนพื้นที่ใกล้กับชายแดนอินเดีย ก็อาจทำให้จีนได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์เหนืออินเดียในช่วงที่ทั้งสองประเทศกำลังมีความตึงเครียดตรงพรมแดนเทือกเขาหิมาลัยได้เช่นกัน

Indian activists shout slogans and hold placards during a protest in Guahati, India, Wednesday, March 21, 2012. The activists were protesting against the construction of dams in China in the middle reaches of the Brahmaputra River, or the Yarlung…
Indian activists shout slogans and hold placards during a protest in Guahati, India, Wednesday, March 21, 2012. The activists were protesting against the construction of dams in China in the middle reaches of the Brahmaputra River, or the Yarlung…

เขื่อนยักษ์ขนาดใหญ่กว่าเขื่อนสามผาสามเท่า

โครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ของจีนนี้จะมีขึ้นในทิเบต ติดกับส่วนของแม่น้ำพรหมบุตรในรัฐอรุณาจัลประเทศของอินเดีย ซึ่งจีนเรียกบริเวณนี้ว่า "ทิเบตใต้" โดยคาดว่าเขื่อนยักษ์นี้จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้คราวละ 60 กิกะวัตต์ มากกว่าเขื่อนสามผาของจีนบนแม่น้ำแยงซี ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เกือบสามเท่า อ้างอิงจากรายงานจากสื่อของทางการจีน

หยาน จี้หยง ประธานบริษัท Power Construction Corporation of China กล่าวว่า โครงการนี้คือ "โอกาสสำคัญในประวัติศาสตร์" ที่จีนจะสามารถสร้างความมั่นคงด้านน้ำ และช่วยสนองความต้องการด้านพลังงานสะอาดในประเทศจีนได้ ​

แต่ จากานนัธ พันดา นักวิเคราะห์แห่ง Institute for Defense Studies and Analyses ในกรุงนิวเดลี กล่าวว่า ความกังวลของอินเดียคือ จีนกำลังเดินหน้าสร้างเขื่อนโดยที่มิได้ปรึกษาประเทศอื่น เพื่อควบคุมการไหลของกระแสน้ำในแม่น้ำที่เดินทางผ่านหลายประเทศ

นอกจากนี้ การที่โครงการนี้ประกาศออกมาในขณะที่จีนและอินเดียกำลังเกิดความตึงเครียดทางทหารในแถบเทือกเขาหิมาลัย ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าจีนกำลังใช้ประเด็นเรื่องแม่น้ำเพื่อกดดันอินเดียในเรื่องข้อพิพาทตามแนวพรมแดน

ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารของอินเดียจากสถาบัน Delhi Policy Group มองว่า โครงการนี้คือภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่ออินเดีย เนื่องจากอยู่ติดกับพรมแดนทางทิศเหนือของอินเดียที่กำลังมีปัญหา เพราะเมื่อมีสิ่งก่อสรา้งขนาดใหญ่เช่นนี้เกิดขึ้น จีนก็จะสามารถติดตั้งระบบขีปนาวุธ สร้างถนน สร้างเมืองใหญ่ และให้ประชาชนเข้ามาอาศัยในบริเวณนั้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะยิ่งเป็นการกดดันทางยุทธศาสตร์ต่ออินเดีย

An aerial view of flooded Majuli, an island in River Brahmaputra, Assam, India, Tuesday, July 16, 2019.
An aerial view of flooded Majuli, an island in River Brahmaputra, Assam, India, Tuesday, July 16, 2019.

ทางการจีนแถลง "อย่าเพิ่งตื่นตระหนก"

สถานทูตจีนประจำกรุงนิวเดลีพยายามผ่อนเพลาความกังวลของอินเดียโดยมีแถลงการณ์เมื่อเดือนที่แล้วว่า โครงการนี้ยังคงอยู่ในขั้นตอนการวางแผนเท่านั้น และที่ผ่านมาจีนมีทัศนคติรับผิดชอบต่อโครงการพัฒนาบนแม่น้ำที่ไหลผ่านประเทศเพื่อนบ้านอยู่เสมอ โดยจะมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์อย่างละเอียดถึงผลกระทบจากโครงการนี้ที่มีต่อประเทศปลายน้ำ รวมทั้งประโยชน์ที่จะเกิดกับทุกประเทศที่แม่น้ำสายนี้ไหลผ่านไป

ถึงกระนั้น นักวิเคราะห์กล่าวว่า แถลงการณ์ของจีนมิได้ช่วยลดความกังวลของอินเดียลงแต่อย่างใด เมื่อพิจารณาจากช่วงที่จีนและอินเดียมีข้อพิพาทด้านพรมแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียเมื่อสามปีก่อน จีนก็มิได้แบ่งปันข้อมูลสำคัญด้านการไหลของน้ำเพื่อช่วยในการพยากรณ์น้ำท่วมให้กับอินเดียตามที่มีข้อตกลงกันไว้แต่อย่างใด ทำให้เชื่อว่าจีนอาจเก็บข้อมูลเหล่านั้นไว้เพื่อความได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์เท่านั้น

โดยก่อนหน้านี้ จีนได้สร้างเขื่อนขนาดกลางและขนาดเล็กหลายแห่งบนแม่น้ำยาร์ลุงซางโปมาแล้ว

และหลังจากที่จีนประกาศแผนสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ทางด้านอินเดียเองก็เผยแผนสร้างเขื่อนขึ้นมาซ้อนอีกชั้นหนึ่งบนแม่น้ำพรหมบุตรแห่งนี้ เพื่อชดเชยผลกระทบจากเขื่อนแห่งใหม่ของจีน ตามรายงานที่ปรากฎอยู่ในสื่อ Press Trust ​ของอินเดียเมื่อเดือนที่แล้ว

แม่น้ำพรหมบุตร
แม่น้ำพรหมบุตร

ความกังวลของบังกลาเทศกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

นอกจากอินเดียแล้ว บังกลาเทศก็แสดงความกังวลต่อแผนสรา้งเขื่อนยกษ์ของจีนเช่นกัน โดยเฉพาะการควบคุมการไหลของน้ำมายังพื้นที่ตอนล่างที่ประชากรต่างพึ่งพาแม่น้ำสายนี้ในการดำรงชีพและทำเกษตรกรรม

มาลิค ฟีด้า ข่าน แห่ง Center for Environmental and Geographic Information Services ในกรุงดาคา กล่าวว่า แม่น้ำพรหมบุตรเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของชาวบังกลาเทศ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง ซึ่งผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในจีนจะไม่ใช่แค่เรื่องการควบคุมปริมาณน้ำเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการกักเอาดินตะกอนและสารอินทรีย์ต่าง ๆ ที่เดินทางมาจากด้านบนของแม่น้ำที่หมายถึงผลกระทบใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศน์ด้วย

ก่อนหน้านี้ มีรายงานหลายชิ้นบ่งชี้ว่า การสร้างเขื่อนหลายแห่งของจีนด้านบนของแม่น้ำโขง ก็ส่งผลให้เกิดภัยแล้งและน้ำท่วมในหลายประเทศแถบตอนล่างของแม่น้ำโขงเช่นกัน ซึ่งจีนออกมาปฏิเสธรายงานเหล่านี้แล้ว

XS
SM
MD
LG