ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: จีน vs สหรัฐฯ กับการแข่งขันสร้างอิทธิพลเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง


Business News
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:44 0:00

เมื่อกลางเดือนกันยายน สหรัฐฯ ประกาศโครงการความร่วมมือกับห้าประเทศในเขตลุ่มน้ำโขงที่มีชื่อว่า Mekong-US Partnership โดยโครงการความริเริ่มที่ว่านี้มุ่งจะให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่เรื่องโควิด-19 ไปจนถึงการแก้ปัญหาภัยแล้งสำหรับกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย

นักวิเคราะห์บอกว่าแผนงานความริเริ่มที่ว่านี้จะเป็นโอกาสให้สหรัฐฯ ใช้เพื่อต้านอิทธิพลของจีนได้

ขณะนี้จีนมีโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในหลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ขณะเดียวกัน โครงการสร้างเขื่อนของจีนก็มีผลต่อปริมาณน้ำใต้เขื่อนในแม่น้ำโขงด้วย

อาจารย์อเล็กซานเดอร์ วูวิง จากศูนย์ศึกษาเรื่องความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ในรัฐฮาวาย ชี้ว่า ยิ่งมีการแข่งขันเพื่อสร้างอิทธิพลระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมากเท่าใด อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงนี้ก็จะยิ่งมีความสำคัญเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

โครงการความร่วมมือ Mekong-US Partnership ที่สหรัฐฯ เพิ่งประกาศเมื่อเดือนกันยายน จะทดแทนข้อตกลงความร่วมมือเดิมที่สหรัฐฯ มีอยู่กับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างหรือ Lower Mekong Initiative โดยตามข้อตกลงความร่วมมือใหม่นี้ ห้าประเทศในเขตลุ่มน้ำโขงตอนล่างได้ลงนามในคำแถลงร่วมซึ่งเน้นเรื่องความโปร่งใส การเคารพอธิปไตย การไม่ก้าวก่ายแทรกแซง และการเคารพในหลักกฏหมายระหว่างประเทศด้วย

ตามข้อตกลงใหม่ดังกล่าวสหรัฐฯ จะเพิ่มความช่วยเหลือเพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ให้กับห้าประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง นอกเหนือจากความช่วยเหลือ 52 ล้านดอลลาร์ซึ่งสหรัฐฯ ให้สัญญาสำหรับปีนี้ และจะให้ความช่วยเหลืออีก 6 ล้านดอลลาร์เพื่อให้ประเทศเหล่านี้มีข้อมูลสำหรับการตัดสินใจเกี่ยวกับปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงเพื่อการจัดสรรให้กับเกษตรกรและการควบคุมน้ำท่วมด้วย เนื่องจากบางครั้งจีนใช้มาตรการควบคุมน้ำที่เขื่อนบริเวณแม่น้ำโขงตอนบนเป็นข้อต่อรองกับประเทศตอนใต้ของลุ่มน้ำโขง

รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ห้าประเทศในเขตลุ่มน้ำโขงตอนล่างหวังว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงการพึ่งพาความช่วยเหลือจากจีนมากเกินไป โดยนักรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้นี้ชี้ว่า ความร่วมมือกับสหรัฐฯ จะมีส่วนช่วยในฐานะมาตรการเพื่อถ่วงดุลได้

สำหรับในบางประเทศ ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากจีนอาจทำให้เกิดภาระด้านหนี้สินได้ ตัวอย่างเช่น ขณะนี้ลาวมีภาระหนี้สูงถึง 45% ของผลผลิตจีดีพี ตามข้อมูลของสถาบัน Lowy ในออสเตรเลีย ส่วนในเมียนมาก็มีรายงานการเตือนจากกรมบัญชีกลางของประเทศเรื่องการต้องพึ่งพาเงินกู้ดอกเบี้ยสูงจากจีนมากเกินไปเช่นกัน

แต่อีกด้านหนึ่ง หนังสือพิมพ์เซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานว่า ในสัปดาห์นี้นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนจะเดินทางเยือนกัมพูชา มาเลเซีย ลาวและไทย

โดยนอกจากการหารือเกี่ยวกับโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทยแล้ว ขณะนี้จีนยังสัญญาว่าจะให้ความสำคัญกับประเทศสมาชิกของอาเซียนเป็นหลักสำหรับวัคซีนต่อต้านโควิด-19 โดยจีนได้ทำบันทึกความเข้าใจเรื่องนี้กับอินโดนีเซียไปแล้ว และกำลังหารือกับมาเลเซียเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่

เมื่อเดือนมิถุนายน กลุ่มประเทศอาเซียนก้าวขึ้นแซงหน้าสหภาพยุโรปในฐานะกลุ่มประเทศผู้ค้ารายใหญ่ที่สุดกับจีน และนายจาง มิงเลียว นักวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัยจี้นาน ในเมืองกวางโจวของจีน ก็ชี้ว่า ในขณะที่ความสัมพันธ์แบบพหุภาคีระหว่างจีนกับประเทศในอาเซียนนั้นมีความสำคัญ ความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่างจีนกับแต่ละประเทศของอาเซียนก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

XS
SM
MD
LG