นายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี ปฏิญานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สามในวันอาทิตย์ ในพิธีที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงนิวเดลี แม้ว่าการบริหารประเทศในครั้งนี้ โมดีจะมีเก้าอี้ ส.ส. ลดลงก็ตาม
พรรคภารตียา ชนตา หรือ BJP ไม่สามารถคว้าที่นั่ง ส.ส. ได้เกินครึ่งหนึ่งเหมือนกับการเลือกตั้งสองครั้งที่ผ่านมา ทำให้ต้องพึ่งพรรคพันธมิตรในปีกรัฐบาลมากขึ้นกว่าเดิม
นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า โมดีจะประสบความท้าทายทางการเมืองมากขึ้นในการดำรงตำแหน่งนายกฯ รอบนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา โมดียังไม่เคยเผชิญแรงกดดันจากพันธมิตรนอกพรรค BJP เช่นนี้มาก่อน
นีรจา ชาวห์ฮูรี นักวิเคราะห์การเมือง ชี้ว่า "ลักษณะการทำงานของโมดีนั้นคือการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ตรงประเด็น และกำหนดเงื่อนเวลาในการทำให้บรรลุผล ซึ่งไม่ใช่การปรึกษาผู้คนจำนวนมาก หรือนำบุคคลอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจมากนัก"
ผลเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นความถดถอยอย่างน่าประหลาดใจของนายกฯ โมดี ผู้ที่ปกครองอินเดียมานานนับสิบปีและได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ประชาชน และกำลังจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ที่อยู่ในตำแหน่งได้ถึง 3 สมัยนับตั้งแต่อินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ ต่อจากยาวาฮาร์ลาล เนห์รู
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า โมดีจะสามารถผนึกพันธมิตรกลุ่มต่าง ๆ เข้าด้วยกันเพื่อเดินหน้าปฏิรูปอุตสาหกรรมและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติซึ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจอินเดีย
ทั้งนี้ โมดีมีแผนทำให้อินเดียกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลกและเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2047 นอกจากนี้ยังจะเสริมความสัมพันธ์กับทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียไปพร้อม ๆ กัน
นอกจากนี้ คาดว่าเขาจะมุ่งเน้นไปที่ประเด็นท้าทายอื่น ๆ ทางเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อสูง ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ชาวอินเดียส่วนใหญ่กังวลที่สุด อ้างอิงจากผลสำรวจทั่วประเทศที่จัดทำโดย CSDS-Lokniti
นักวิเคราะห์กล่าวว่า นอกจากการผูกสัมพันธ์กับพันธมิตรพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว โมดียังต้องพยายามสร้างสะพานเชื่อมกับกลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้านที่ครองที่นั่ง 232 จากทั้งหมด 543 ที่นั่งในรัฐสภาด้วย เพื่อที่จะสามารถผ่านกฎหมายต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น
มุกโขปัตเย ผู้เขียนหนังสืออัตชีวประวัติของนเรนทรา โมดี ชี้ว่า "โมดีจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการทำงานของตัวเองเสียใหม่หากต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่นี้อยู่ครบเทอม"
- ที่มา: วีโอเอ