ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สื่อนอกจับตา ‘เศรษฐา’ รับไม้ต่อจาก ‘ประยุทธ์’


นายเศรษฐา ทวีสิน ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ขณะเข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566
นายเศรษฐา ทวีสิน ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ขณะเข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566

สื่อต่างชาติหลายสำนักยังคงติดตามความเป็นไปทางการเมืองของไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังที่ประชุมรัฐสภามีมติเสียงส่วนใหญ่รับรองให้นายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และเดินทางเข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการรับช่วงบริหารประเทศต่อ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การพบกันระหว่างนายเศรษฐา และพลเอกประยุทธ์ในวันพฤหัสบดีนั้นตอกย้ำความผ่อนคลายของวิกฤตการณ์ทางการเมืองไทยที่มีความบอบบาง ซึ่งเป็นประเด็นที่ว่าที่นายกรัฐมนตรีนั้นยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการจัดการ โดยเฉพาะประเด็นความแตกแยกทางการเมืองของประเทศ

สื่อนิคเคอิเอเชียระบุว่า การพบกันระหว่างผู้ที่จะมารับหน้าที่ดูแลการบริหารประเทศและผู้ที่กำลังจะก้าวลงจากตำแหน่งเช่นนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีการก่อรัฐประหารเป็นระยะ ๆ นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นายเศรษฐา ทวีสิน ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ขณะเข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566
นายเศรษฐา ทวีสิน ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ขณะเข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566

และหลังการเข้าเยี่ยมคารวะและหารือเสร็จสิ้นลง ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายเศรษฐาว่า ได้พูดคุยอะไรกับพลเอกประยุทธ์บ้าง และว่าที่นายกฯ เปิดเผยว่า ได้รับคำแนะนำให้นิ่งและอดทน และทำหน้าที่ปกป้องชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์

รอยเตอร์รายงานด้วยว่า มีการคาดเดากันมากมายว่า การที่นายเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จนั้นเป็นเพราะข้อตกลงลับระหว่างฝ่ายผู้มีอำนาจต่าง ๆ ในไทย ซึ่งรวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่เพิ่งเดินทางกลับประเทศหลังลี้ภัยไปต่างแดนถึง 15 ปี

แต่อดีตนายกฯ และพรรคเพื่อไทยต่างปฏิเสธข้อสงสัยว่ามีการทำข้อตกลงกับฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับตน ซึ่งรวมถึงกองทัพและสถาบันหัวอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย

ประเด็นต่อไปที่สื่อต่าง ๆ จับตาดูอยู่ก็คือ การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีซึ่งนิคเคอิเอเชียชี้ว่า ไม่น่าจะเป็นรูปเป็นร่างภายในสัปดาห์นี้ เนื่องจากยังมีการเจรจาระหว่างพรรคเพื่อไทยและพันธมิตรอื่น ๆ อีก 10 พรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลเสียก่อน ท่ามกลางการคาดหมายว่า พรรคเพื่อไทยน่าจะได้เก้าอี้รัฐมนตรี 8 ตำแหน่งและรัฐมนตรีช่วยอีก 4 ตำแหน่ง โดยว่าที่นายกฯ เศรษฐาอาจควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย

รอยเตอร์ระบุว่า การจัดรัฐบาลใหม่น่าจะเสร็จสิ้นเพื่อเปิดทางให้มีการนำเสนอจุดประสงค์ด้านนโยบายต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาก่อนเริ่มปฏิบัติหน้าที่จริงในปลายเดือนกันยายน โดยหนึ่งในภารกิจท้าทายหนักคือ การผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินไว้ว่า จะไม่ถึง 3.6% ในปีนี้

ขณะเดียวกัน รัฐบาลประเทศต่าง ๆ เริ่มส่งสารแสดงความยินดีมายังพรรคเพื่อไทยแล้ว โดยนิคเคอิเอเชียรายงานว่า แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ว่า “เราจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลใหม่ของไทยเพื่อเดินหน้าส่งเสริมคุณค่าร่วมระหว่างกันและภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้าง มีการเชื่อมต่อ มีสันติ และมีความสามารถในการฟื้นตัวได้ดี”

ในวันพฤหัสบดีเช่นกัน นายเศรษฐาเพิ่งตอบขอบคุณข้อความแสดงความยินดีจากนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ที่ส่งมาทางแพลตฟอร์ม เอ็กซ์ (X) หรือที่รู้จักกันในนามทวิตเตอร์ ส่วนสหภาพยุโรปก็แสดงความยินดีต่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยที่ประกาศพร้อมเดินหน้ายกระดับข้อตกลงการค้าในระดับทวิภาคีกับนานาประเทศ โดยอียูมีแผนจะกลับสู่โต๊ะเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับไทยอีกครั้งในเดือนหน้า หลังต้องหยุดชะงักไปเพราะการก่อรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557

  • ที่มา: รอยเตอร์, นิคเคอิ เอเชีย และ เซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์
XS
SM
MD
LG