ลิ้งค์เชื่อมต่อ

3 ควันหลงโหวตนายกฯ กับเรื่องราวที่น่าจับตามอง


นายเศรษฐา ทวีสิน ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย ปรากฏตัวในการแถลงข่าวในคืนวันที่ 22 สิงหาคม 2023 (ที่มา: เอพี)
นายเศรษฐา ทวีสิน ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย ปรากฏตัวในการแถลงข่าวในคืนวันที่ 22 สิงหาคม 2023 (ที่มา: เอพี)

รวม 3 เหตุการณ์ในวันโหวตนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ที่น่าจับตามองว่าจะส่งผลถึงเหตุการณ์ทางการเมืองข้างหน้าหรือไม่ ทั้งรอยร้าวในพรรคประชาธิปัตย์ เสียงสนับสนุนของ สว. และท่าทีของพรรคเพื่อไทยต่อพรรคก้าวไกล

ผลลงคะแนนเสียงรับรองนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย เปรียบเสมือนการรูดม่านหนึ่งวันอันยาวนานที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์ทางการเมืองของไทย

กระนั้น เรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา อาจจะส่งผลต่อการเมืองบทใหม่ในวันถัดไป วีโอเอ ไทย หยิบยกเรื่องที่น่าสนใจเป็นควันหลง 3 ประเด็น ดังนี้

1. รอยร้าวในพรรคประชาธิปัตย์

ในจำนวน 482 เสียงที่โหวตสนับสนุนนายเศรษฐา มี 16 เสียงที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ร่วมอยู่ด้วย แม้การประชุมพรรคเมื่อ 21 สิงหาคมที่ผ่านมาจะมีมติ “งดออกเสียง” ก็ตาม

หากนับรวมผู้ที่โหวต “ไม่เห็นชอบ” อีก 3 เสียงได้แก่สมาชิกพรรคเก่าแก่อย่างนายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และนายราชิต สุดพุ่ม ส.ส. หน้าใหม่ ก็หมายความว่า มี ส.ส. ที่ฝืนมติพรรคมีจำนวนถึง 19 จากทั้งหมด 25 คน

การฝืนมติแบบล้นหลามเกิดขึ้นในช่วงที่ พรรคประชาธิปัตย์กำลังประสบปัญหาในการหาหัวหน้าพรรคคนใหม่ต่อจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ประกาศลาออกไปก่อนหน้านี้ โดย 16 เสียงที่โหวตสนับสนุนนายเศรษฐานั้น รวมไปถึงนายเดชอิศม์ ขาวทอง ที่ถูกจับตามองว่าเป็นตัวเต็งหัวหน้าพรรค ปชป. คนใหม่ด้วย

พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย โพสต์ในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “สิบหกงูเห่า ‘ล่อนจ้อน’”

ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของพรรคประชาธิปัตย์เช่นนี้ ท่าทีของกลุ่มส.ส. ที่ตัดสินใจไม่เหมือนกับมติพรรค จึงน่าจับตามองว่าจะมีผลต่อพวกเขาหรือตัวพรรคอย่างไร

2. แรงสนับสนุนจาก สว.

ในจำนวน 482 เสียงสนับสนุน นายเศรษฐาได้รับเสียงโหวตจากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ถึง 152 เสียง ถือเป็นจำนวนที่ล้นหลามเมื่อเทียบกับ 13 เสียง ที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้รับเมื่อครั้งที่โหวตไม่ผ่านเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ในจำนวน 152 เสียงนี้ เคยมีตำแหน่งในกองทัพ หรือติดยศทหารถึง 65 ราย ในรายชื่อนี้รวมไปถึงผู้เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองในสมัยรัฐบาลทหาร เช่น พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รวมไปถึง พลเอกปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

อนึ่ง 6 ผู้นำเหล่าทัพปัจจุบัน ได้ใช้สิทธิ์งดออกเสียง

เสียงโหวตท่วมท้นเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสคำถามว่า สว. ถูกกดดันให้เลือกลงคะแนนเสียงไปในทางใดทางหนึ่งหรือไม่ โดยข้อกังวลดังกล่าวเคยถูกยกขึ้นมาโดยนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เรื่อยมา จนถึงข่าวการ “แจกกล้วย” ให้ สว. โหวตสนับสนุนนายเศรษฐาที่ถูกพูดถึงในที่ประชุมสภาเมื่อ 22 สิงหาคมโดยนายวิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร สมาชิกวุฒิสภา

ท่าทีของ สว. ที่เปลี่ยนไป นำไปสู่คำถามว่า จะมีผลอะไรกับเรื่องอื่นที่ สว. มีอำนาจตัดสินใจหรือไม่ ก่อนที่จะหมดวาระไปในเดือนพฤษภาคม 2024 เช่น การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่แกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทยประกาศว่า จะเป็นหนึ่งในวาระสำคัญที่จะทำเป็นมติตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรก

3. เพื่อไทย-ก้าวไกล ยืนคนละฝั่งชัดเจน

“ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมบอกกับท่านประธานเลยก็ได้ว่า พรรคเพื่อไทยไม่มีทางจับมือกับพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาล”

“แต่ด้วยสภาพบังคับรัฐธรรมนูญอย่างนี้ เราไม่ร่วมมือกันไม่ได้ แต่เราก็คิดผิดครับ เราคิดผิดว่า ยิ่งเราจับมือกัน ยิ่งจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้”

ข้อความข้างต้นเป็นสิ่งที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวชี้แจงในรัฐสภา ในประเด็นข้อครหาที่มีต่อนายเศรษฐา

หลังจากนั้น ในวันเดียวกัน พรรคก้าวไกลได้ประกาศว่า จะทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายค้าน จึงเท่ากับพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลที่เคยร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วยกันในอดีตนั้น วันนี้ยืนอยู่คนละฝั่งการเมือง

(แถวล่างสุด คนที่สองจากซ้ายมือ) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ร่วมจับมือกับตัวแทนพรรคการเมืองรวม 6 พรรค (ก่อนจะเพิ่มเป็น 8 พรรคในเวลาต่อมา) เพื่อสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ 17 พฤษภาคม 2023 (ที่มา: เอพี)
(แถวล่างสุด คนที่สองจากซ้ายมือ) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ร่วมจับมือกับตัวแทนพรรคการเมืองรวม 6 พรรค (ก่อนจะเพิ่มเป็น 8 พรรคในเวลาต่อมา) เพื่อสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ 17 พฤษภาคม 2023 (ที่มา: เอพี)

สิ่งที่น่าจับตามองต่อจากนี้คือ การทำงานในฐานะฝ่ายค้านของก้าวไกลว่า จะตรวจสอบการทำงานของฝ่ายรัฐบาลอย่างไร รวมถึงความพยายามในการเสนอชุดนโยบายที่เคยหาเสียงไว้สู่สภา จะถูกตอบรับจากรัฐบาลเพื่อไทยอย่างไร โดยเฉพาะในประเด็นที่แหลมคมอย่างข้อเสนอเรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) ที่กลายเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักของสมาชิกรัฐสภาในการปฏิเสธพรรคก้าวไกล

ควันหลงสภารอบนี้ จะมีผลต่ออนาคตการเมืองอย่างไร ล้วนแล้วแต่น่าจับตามอง

ข้อมูลจาก: โทรทัศน์รัฐสภา, พีพีทีวี, ไทยพีบีเอส, พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, MCOT

XS
SM
MD
LG