ในช่วงกว่า 4 เดือนที่ผ่านมาหลังจากรัสเซียเริ่มบุกรุกยูเครน มีชาวยูเครนจำนวนมากที่ต้องลี้ภัยไปประเทศอื่นโดยใช้รัสเซียเป็นทางผ่าน ซึ่งพวกเขาได้บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางที่ยากลำบาก และประสบการณ์จากการเผชิญการปฏิบัติที่แตกต่างหลากหลายในรัสเซีย
วแลด โชโรคอฟ อดีตผู้สื่อข่าวและผู้จัดการร้านอาหาร วัย 25 ปี อพยพออกจากเมืองมาริอูโพล (Mariupol) พร้อมครอบครัวและเพื่อนบ้านเมื่อวันที่ 20 มีนาคม เพื่อหนีการโจมตีด้วยปืนใหญ่ของรัสเซีย โดยเขาเดินทางผ่านไปทางรัสเซียก่อนที่จะต่อไปยังฟินแลนด์ที่ซึ่งเขาไปรับจ้างทำงานก่อสร้างอยู่ในขณะนี้
โชโรคอฟเล่าให้วีโอเอฟังว่า สมาชิกในกลุ่มของเขาทั้ง 9 คน หลบหนีออกจากอาคารสูงแห่งหนึ่งไม่ไกลจากโรงงานเหล็กอซอฟสตาลที่ถูกโจมตีอย่างหนักหน่วง โดยมีทหารรัสเซียเป็นผู้จัดเตรียมเส้นทางการอพยพซึ่งต้องผ่านจุดตรวจที่อยู่ห่างออกไป 7 กม.
กลุ่มของโชโรคอฟถูกนำตัวขึ้นรถโดยสารคันหนึ่งซึ่งพาพวกเขาไปที่เมืองโนโวอซอฟสก์ (Novoazovsk) ในเขตปกครองดอแนตสก์ ติดกับชายแดนรัสเซีย ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังหมู่บ้านโอเลกซานไดรฟสก์ (Oleksandrivske) เพื่อรอผ่านกระบวนการ "กลั่นกรอง" ผู้ลี้ภัย
หลังผ่านกระบวนการกลั่นกรองแล้ว โชโรคอฟและครอบครัวถูกส่งตัวไปยังเมืองทาแกนร็อก (Taganrog) ในรัสเซีย จากนั้นเดินทางด้วยรถไฟและรถแท็กซี่ต่อไปยังชายแดนฟินแลนด์ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาหลายวัน
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ชาวยูเครนทุกคนจะมีการเดินทางที่ค่อนข้างราบรื่นเหมือนโชโรคอฟ
การกลั่นกรองอย่างละเอียด
เดนิส โคชูเบย์ เจ้าหน้าที่สภาเมืองมาริอูโพล กล่าวกับวีโอเอว่า มีรายงานเกี่ยวกับชาวยูเครนจำนวนมากที่ต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองบริเวณพรมแดนยูเครน-รัสเซีย และบางคนต้องผ่าน "การกลั่นกรองอย่างละเอียด" ซึ่งรวมถึงการตอบคำถามมากมาย และอาจถูกทุบตีทำร้าย โดยเฉพาะคนที่เคยทำงานให้กับกองทัพยูเครนมาก่อน
โคชูเบย์บอกว่า คนที่มีรอยสักหรือมีสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับยูเครน เช่น สวมเสื้อยืดสีเหลืองและน้ำเงินซึ่งเป็นสีธงชาติยูเครน หรือบังเอิญหลุดคำพูดเป็นภาษายูเครน คน ๆ นั้นอาจต้องถูกตรวจสอบกลั่นกรองอย่างละเอียดได้
ชาวเมืองมาริอูโพลอีกผู้หนึ่ง คือ คาเทรีนา โวฟค์ ซึ่งหลบหนีออกจากเมืองพร้อมสามีและลูกน้อยวัย 3 ขวบ เล่าประสบการณ์ว่า เธอถูกทหารรัสเซียนำตัวไปส่งที่เมืองนิโคลสกีในฝั่งยูเครนซึ่งกองทัพรัสเซียยึดครองเอาไว้แล้ว โดยเธอและผู้อพยพคนอื่น ๆ ถูกนำตัวไปรวมกันที่โรงยิมของโรงเรียนแห่งหนึ่งก่อนที่จะถูกนำขึ้นรถบัสไปเมืองทาแกนร็อกในรัสเซียเช่นกัน
โวฟค์เดินทางต่อไปยังเขตปกครองวลาดิเมียร์ในรัสเซีย ไม่ไกลจากกรุงมอสโก และได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากบรรดาอาสาสมัครชาวรัสเซียที่นั่น
อย่างไรก็ตาม การเดินทางออกจากรัสเซียเพื่อไปยังประเทศที่สามนั้นไม่ง่ายเหมือนตอนเข้าไปรัสเซีย เธอเล่าว่า เจ้าหน้าที่ชายแดนรัสเซียถามคำถามและตรวจสอบทุกคนอย่างเข้มงวด ผู้ชายถูกจับแยกออกไปสอบสวนต่างหากเป็นเวลาหลายชั่วโมง
ปัญหาด้านเอกสารและเงินค่าเดินทาง
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ประเมินว่า มีชาวยูเครนมากกว่า 1.5 ล้านคนที่ลี้ภัยเข้าไปในรัสเซียนับตั้งแต่เกิดสงครามเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่มิได้มีการระบุจำนวนผู้ลี้ภัยโดยสมัครใจและไม่สมัครใจว่ามากน้อยแค่ไหน
ทางด้าน ไอรีนา เวเรสชุค รองนายกรัฐมนตรียูเครน กล่าวว่า มีชาวยูเครนราว 1.2 ล้านคน รวมถึงเด็ก 240,000 คน ที่ถูกบังคับให้เดินทางไปรัสเซียนับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้น
โอเลกซานดรา แมตเวียชุค ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนชาวยูเครน กล่าวว่า มีชาวยูเครนจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาในการเดินทางออกจากรัสเซียเนื่องจากไม่มีเอกสารและเงินค่าเดินทาง หรืออาจถูกย้ายไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลในรัสเซียโดยไม่เต็มใจ
ชาวยูเครนจำนวนมากต่างรีบหนีออกจากเมืองที่ถูกโจมตีโดยแทบไม่มีเวลานำเอกสารใด ๆ ติดตัว ซึ่งการหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ตัวตนของพวกเขานั้นถือเป็นเรื่องยากลำบากอย่างยิ่ง
หนึ่งในอาสาสมัครชาวรัสเซียที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก กล่าวกับวีโอเอว่า สำเนาเอกสารหรือเอกสารอิเลกทรอนิกส์นั้นอาจนำมาใช้ไม่ได้ในกรณีของผู้อพยพที่ต้องการเดินทางออกจากรัสเซีย โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กเล็กซึ่งแทบไม่มีเอกสารใด ๆ มาแสดง ทำให้พวกเขาต้องจำใจติดค้างอยู่ในรัสเซีย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศยูเครนแนะนำให้ชาวยูเครนที่ไม่มีเอกสารติดตัว ติดต่อไปยังสถานทูตในประเทศที่ต้องการเดินทางไปพักอาศัย หรือติดต่อที่ฝ่ายบริการกงสุลของกระทรวงการต่างประเทศเพื่อขอความช่วยเหลือ
ไม่ใช่ทุกคนต้องการเดินทางออกจากรัสเซีย
แมตเวียชุค ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า มีผู้อพยพชาวยูเครนบางส่วนที่ไม่ต้องการเดินทางออกไปจากรัสเซีย ส่วนหนึ่งอาศัยอยู่กับญาติพี่น้อง บางคนหางานทำได้ในรัสเซีย และหลายคนไม่ต้องการเผชิญกับประสบการณ์กระทบกระเทือนจิตใจอีกต่อไป
ทนายความชาวยูเครนผู้นี้บอกว่า "พวกเขาต้องอยู่ในหลุมหลบภัยนานหลายสัปดาห์ตอนที่ถูกทหารรัสเซียถล่มโจมตี ไม่มีอาหาร ไม่น้ำ ไม่มีไฟฟ้า บางส่วนอาจสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก จนไม่มีแรงกายหรือแรงใจที่จะเดินทางหลบหนีไปไหนอีกแล้ว แม้จะต้องอาศัยอยู่ในประเทศของผู้ที่ทำลายถิ่นฐานของพวกเขาก็ตาม"
- ข้อมูลบางส่วนจาก TSN และ Tass