ก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะตัดสินใจประกาศสนับสนุนรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ในการเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน ผู้นำพรรคหลายคนรู้สึกกังวลใจเกี่ยวกับอนาคตของพรรคไม่น้อย
แต่เวลานี้ บรรยากาศในหมู่สมาชิกและผู้สนับสนุนต่างจากภาพในวันนั้นอย่างมาก และการที่แฮร์ริสไม่มีคู่แข่งที่มีภาษีสู้ได้จากภายในพรรคมาท้าชิงการเป็นตัวแทนเดโมแครตทำให้รองประธานาธิบดีหญิงสามารถรวบรวมการรับรองจากผู้แทน (delegate) ถึง 4,567 คน หรือ 99% ของผู้มาร่วมการประชุมแบบออนไลน์เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
นอกจากนั้น แผนงานหาเสียงของแฮร์ริสที่ร่วมมือกับคณะกรรมการแห่งชาติพรรคเดโมแครต (Democratic National Committee - DNC) และคณะกรรมการร่วมระดมทุนชุดอื่น ๆ สามารถรวบรวมเงินสนับสนุนการเลือกตั้งของพรรคมากเป็นประวัติการณ์ถึง 310 ล้านดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคมเพียงเดือนเดียว โดยเป็นตัวเลขที่แซงหน้าเม็ดเงินของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งปีนี้ไปได้มากมาย โดยทีมของแฮร์ริสสามารถระดมเงินได้ถึงกว่า 200 ล้านดอลลาร์ภายในสัปดาห์แรกของการเปิดตัวเป็นผู้ลงเลือกตั้ง
เควิน มูนอซ โฆษกทีมงานหาเสียงของแฮร์ริส กล่าวว่า “เราได้เห็นการออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนอย่างมากมาย เป็นการสนับสนุนในระดับรากหญ้า – ที่มีการจัดกิจกรรมและการระดมทุน – ซึ่งทำให้ได้มาซึ่งชัยชนะได้”
กระแสเชิงบวกของการหาเสียงของพรรคเดโมแครตนี้สะท้อนออกมาในรูปของผลการสำรวจความคิดเห็นด้วย
หลังการสำรวจพบว่า ประชาชนในรัฐเพนซิลเวเนีย มิชิแกนและวิสคอนซิน ออกมาสนับสนุนตัวแทนพรรคเดโมแครตอย่างมากมาย เนท ซิลเวอร์ นักวิเคราะห์ข้อมูลการเลือกตั้งระบุว่า ในเวลานี้ แฮร์ริสมีโอกาสชนะการเลือกตั้งถึง 55% แล้ว
เมื่อถามถึงโอกาสของไบเดนตอนที่ยังไม่ถอนตัว ซิลเวอร์บอกว่า ตัวเลขของผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบันอยู่ที่ 27% เท่านั้น
อย่างไรก็ดี ทีมงานหาเสียงของทรัมป์ยืนยันว่า พื้นฐานปัจจัยการเลือกตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
โทนี แฟบริซิโอ ผู้ทำหน้าที่สำรวจความคิดเห็นของทีมงานหาเสียงทรัมป์ระบุในบันทึกที่ส่งให้ผู้สื่อข่าวว่า “พรรคเดโมแครตเปลี่ยนตัวผู้แทนพรรคคนหนึ่งเป็นอีกคนหนึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงความไม่พอใจของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเกี่ยวกับเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ อาชญากรรม การเปิดชายแดน ต้นทุนราคาบ้าน และยังไม่พูดถึงประเด็นความกังวลเกี่ยวกับ 2 สงครามในต่างแดนอีก”
แฟบริซิโอกล่าวด้วยว่า “ช่วงฮันนีมูน” ของแฮร์ริสจะจบลงในเร็ว ๆ นี้แล้ว และว่า “ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นอาจเปลี่ยนไปในระยะสั้น และเธอก็อาจรวบรวมฐานเสียงพรรคเดโมแครตได้เพิ่มบ้าง แฮร์ริสไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวตนของเธอหรือสิ่งที่เคยทำมาได้”
ส่วนแลร์รี ซาบาโต ผู้อำนวยการศูนย์ Center for Politics จากมหาวิทยาลัยแห่งเวอร์จิเนีย บอกกับ วีโอเอ ว่า การปรากฏตัวของแฮร์ริสในฐานะตัวแทนพรรคคือสิ่งที่บอกว่า “เดโมแครตกลับมาแล้ว” และว่า “โดนัลด์ ทรัมป์ ยังไม่เป็นที่นิยมเหมือนที่เคยเป็นมา และตอนนี้ เขาก็เผชิญคู่ต่อสู้ที่น่าดึงดูดใจ(สำหรับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง)ยิ่งกว่าตนเองแล้ว”
รัฐสมรภูมิ
ในสหรัฐฯ ผลการเลือกตั้งไม่ได้ถูกตัดสินด้วยคะแนนเสียงความนิยมของประชาชน แต่ด้วยผลการชนะคณะผู้แทนเลือกตั้งประธานาธิบดีของแต่ละรัฐ (Electoral College) ซึ่งมีการคิดคำนวณเป็นสัดส่วนของตัวเลขประชากรของรัฐ โดยผู้ที่ได้คะแนนเสียงคณะผู้แทนฯ มากที่สุดคือ ผู้ชนะการเลือกตั้งรัฐนั้น ๆ โดยปริยาย
ที่ผ่านมา ทีมงานของแฮร์ริสพยายามลงแรงอย่างหนักเพื่อหาเสียงในพื้นที่รัฐสมรภูมิ (battleground state) หรือรัฐที่ทั้งสองพรรคมีคะแนนสูสี (swing state) ที่จะเป็นพื้นที่ชี้วัดชัยชนะการเลือกตั้งปีนี้ อันได้แก่ รัฐมิชิแกน วิสคอนซิน เพนซิลเวเนีย เนวาดา แอริโซนา นอร์ธแคโรไลนาและจอร์เจีย ด้วยการตั้งป้าย เปิดสำนักงานและรับสมัครเจ้าหน้าที่รวมทั้งหาอาสาสมัครมาร่วมงานหลายหมื่นคน
ในการเลือกตั้งปี 2020 นั้น ผู้ชนะในรัฐเหล่านี้มีคะแนนนำไม่เกิน 3% เท่านั้น โดยขณะนี้ การสำรวจชี้ว่า แฮร์ริสกำลังนำทรัมป์อยู่เล็กน้อยในเพนซิลเวเนียและวิสคอนซิน ในอัตราที่ยังจัดว่าอยู่ในช่วงเปอร์เซ็นต์ความคลาดเคลื่อน (margin of error) อยู่ และทรัมป์ยังเป็นผู้นำในมิชิแกน เนวาดา แอริโซนาและนอร์ธแคโรไลนา โดยมีคะแนนนำที่สูงกว่า margin of error ในจอร์เจียด้วย
จูลี โรกินสกี นักวางยุทธศาสตร์ของพรรคเดโมแครตกล่าวว่า ทรัมป์และแฮร์ริสจะตกอยู่ในฐานะลำบากถ้าไม่สามารถครองชัยชนะในเพนซิลเวเนียไว้ได้ โดยรัฐนี้มีคณะผู้แทนทั้งหมด 19 เสียงซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในหมู่ swing state
โรกินสกีบอกกับ วีโอเอ ว่า “ทั้งคู่ต่างสามารถแพ้ในรัฐนี้ได้ แต่นั่น(หมายความว่า) จะต้องชนะในรัฐที่สองพรรคมีคะแนนสูสีให้ได้หมดหรือเกือบทั้งหมด”
ผู้ที่จะได้ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะต้องได้คะแนนเสียงจากคณะผู้แทนเลือกตั้งฯ อย่างน้อย 270 เสียงจากทั้งหมด 538 เสียง
เคลลี ดิตต์มาร์ รองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรัทเกอร์ส บอกกับ วีโอเอ ว่า “การได้ชัยใน swing state ที่มีจำนวนคณะผู้แทนเลือกตั้งฯ สูง เช่น มิชิแกนและเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นสองรัฐที่เดโมแครตชนะไปเมื่อไม่นานมานี้และไบเดนชนะในปี 2020 – คือ เส้นทางที่แน่นอน [สำหรับแฮร์ริส] ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จ”
แต่จุดที่เป็นความท้าทายก็คือ แฮร์ริสต้องหาทางทำให้ประชากรจำนวนไม่น้อยในรัฐมิชิแกนที่มีเชื้อสายอาหรับและอยู่ในอารมณ์โกรธรัฐบาลไบเดนที่สนับสนุนอิสราเอลและเขียนคำว่า “ไม่เลือก” (uncommitted) ในบัตรเลือกตั้งขั้นต้น (primate vote) มาแล้ว หันกลับมาสนับสนุนเธอให้ได้
นอกจากนั้น แฮร์ริสยังต้องเจอแรงต้านจากกลุ่ม Abandon Biden ที่โกรธรัฐบาลชุดปัจจุบันเพราะนโยบายสนับสนุนอิสราเอลเช่นกัน
ฮุดเฮย์ฟาห์ อาห์หมัด ตัวแทนฝ่ายสื่อของกลุ่มดังกล่าวบอกกับ วีโอเอ ว่า “เราจะบอกว่า (เรา)ไม่โหวตให้กับพวกที่สนับสนุนหรือรับรองสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในกาซ่า” และว่า “บอกตามตรง จุดนี้ใช้ได้กับทั้งคามาลา แฮร์ริสและโดนัลด์ ทรัมป์”
เงินเฟ้อและนโยบายผู้อพยพ
ขณะที่ กระแสความกระตือรือร้นในพรรคเดโมแครตจะยกระดับกลับขึ้นมาแล้ว ความเป็นจริงก็คือ แฮร์ริสยังต้องรับมือกับความรู้สึกไม่พอใจและผิดหวังเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงซึ่งเป็นสิ่งที่พรรครีพับลิกันโทษว่า เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลไบเดน-แฮร์ริส
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์มีคะแนนเสียงนำโด่งในประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ โดยโพลล์หลายสำนักระบุว่า ชาวอเมริกันคิดว่า สภาพการเงินของตนในสมัยทรัมป์นั้นดีกว่าในยุคของไบเดนไม่น้อย
แต่การสำรวจความคิดเห็นโดย เดอะไฟแนนเชียล ไทมส์ (Financial Times) ร่วมกับวิทยาลัยธุรกิจรอสส์ (Ross School of Business) ของมหาวิทยาลัยแห่งมิชิแกน (University of Michigan) ที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาในสัปดาห์นี้พบว่า ชาวอเมริกันราว 41% เชื่อใจทรัมป์มากกว่าในการดูแลเศรษฐกิจ ขณะที่ 42% เชื่อว่า แฮร์ริสจะทำได้ดีกว่า ซึ่งเป็นคะแนนที่ดีขึ้นถึง 7 จุดจากการสำรวจในชื่อของไบเดนในเดือนกรกฎาคม
สำหรับประเด็นนโยบายผู้อพยพเข้าเมืองซึ่งเป็นจุดอ่อนอีกจุดของไบเดนและแฮร์ริสด้วย ทีมหาเสียงของทรัมป์พยายามป้ายสีเธอว่าเป็น “เจ้าแม่คุมชายแดน” (border czar) ที่ต้องรับผิดชอบกรณี “การรุกราน” ของผู้อพยพจากอเมริกากลางที่ข้ามแดนเข้ามาในสหรัฐฯ ผ่านพรมแดนเม็กซิโก
ในตอนนี้ ทีมงานหาเสียงของแฮร์ริสกำลังพยายามนำเสนอภาพของผู้สนับสนุนนโยบายการอพยพเข้าเมืองแต่ก็เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายไปด้วย โดยการเน้นย้ำเรื่องราวชีวิตของเธอในฐานะลูกสาวของผู้อพยพเข้าสหรัฐฯ และประสบการณ์การเป็นอดีตอัยการรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นรัฐที่มีจำนวนผู้อพยพเข้ามามากที่สุดของประเทศ
แฮร์ริส จะคว้าชัยในเดือนพฤศจิกายนได้หรือไม่
ในภาวะการแข่งขันที่สูสีกันอยู่นี้ ท่ามกลางสภาพการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา นักวิเคราะห์ต่างพยายามเลี่ยงไม่คาดเดาหรือแสดงความเชื่อมั่นว่า ใครจะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งปีนี้กันแน่
ทีมงานหาเสียงของแฮร์ริสเชื่อว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะออกมาแบบเฉียดฉิวมาก ๆ โดยผลการเลือกตั้งของผู้มีสิทธิ์กลุ่มเล็ก ๆ ในบางรัฐเท่านั้น
และแม้จะมีแรงขับเคลื่อนเชิงบวกอย่างเช่นในปัจจุบัน เควิน มูนอซ โฆษกทีมงานหาเสียงของแฮร์ริส กล่าวว่า “เรายังเป็นมวยรองอยู่ และเราก็จะไม่คิดทึกทักเอาเองเป็นอันขาด”
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น