การลงเลือกตั้งของรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ทำให้เธอเผชิญกับการโจมตีไปที่เรื่องราวระดับตัวบุคคล ทั้งการเหยียดเพศ ชีวิตรัก ไปจนถึงการแต่งกายและลักษณะของการหัวเราะเสียงดัง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นตัวอย่างของนิยามคำว่า “เหยียดเพศหญิง” ที่ชัดเจน
ที่ผ่านมา แฮร์ริสพยายามจะพลิกกระแสการโจมตีเรื่องนี้ ซึ่งเป็นทัศนคติที่แฝงฝังและดำรงอยู่ในสหรัฐฯ มายาวนานกว่าหนึ่งศตวรรษ นับตั้งแต่วิกตอเรีย วูดฮัลล์ ลงแข่งขันชิงตำแหน่งผู้นำสูงสุดในฐานะสตรีคนแรกของประวัติศาสตร์อเมริกัน
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการมองว่าแฮร์ริสกำลังเผชิญกับความท้าทายที่มากไปกว่านั้น จากการที่เธอเป็นลูกผสมหลายเชื้อชาติ
นี่คือคำพูดเมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาของโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน ที่กล่าวถึงแฮร์ริสว่า “เธอมีเชื้อสายอินเดียมาโดยตลอด และป่าวประกาศแค่เรื่องเชื้อสายอินเดีย ผมไม่รู้ว่าเธอเป็นคนดำจนกระทั่งไม่กี่ปีก่อน ที่อยู่ดี ๆ เธอก็เปลี่ยนเป็นคนดำ และตอนนี้เธอต้องการให้คนรู้จักในฐานะคนดำ ผมไม่รู้สิ เธอเป็นอินเดียหรือเป็นคนดำ”
สำหรับนาเดีย บราวน์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ มองว่า คำพูดของทรัมป์ คือตัวอย่างของสิ่งที่เรียกกันในภาษาอังกฤษเรียกว่า misogynoir
บราวน์กล่าวว่า “Misogynoir คือการผสมกันระหว่างการเหยียดเพศและเหยียดผิว ที่ถูกใช้เฉพาะกับผู้หญิงผิวดำ และมันทั้งฝังรากลึกอยู่ในการเหมารวมที่มีต่อผู้หญิงผิวดำ รวมถึงในแง่ที่สิ่งนี้ไม่เป็นไปตามครรลองที่เชิดชูผู้ชายผิวขาวที่ไม่ได้รักเพศเดียวกัน”
การโจมตีตัวบุคคลที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ผู้วิจารณ์แฮร์ริสอย่างหนักอย่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ไมค์ จอห์นสัน ต้องพยายามควบคุมสถานการณ์
จอห์นสันกล่าวว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว กรณีของคามามา แฮร์ริส และเชื้อชาติและเพศของเธอไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แต่อย่างใด”
นักวิชาการหลายคนมองว่า ยังคงมีผู้ที่นิยมแนวคิดว่าผู้หญิงควรมีบทบาทเป็นแม่บ้านหรือเป็นช้างเท้าหลังให้กับสามี ดังที่สะท้อนมาจากปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวบนอินสตาแกรมที่ใช้ชื่อ “tradwife” ที่เป็นคำย่อจากคำว่า traditional wife หมายถึง ภรรยาตามขนบ
ในความเห็นของซาเลนาส แนช ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจากรัฐแคลิฟอร์เนีย เธอมองว่าการโจมตีไปที่เรื่องเพศนั้นเป็นเรื่อง “ไร้สาระ”
แนชกล่าวว่า “นั่นคือการเหยียดเพศ นั่นคือคนที่จะเลือกผู้ชายแบบสุดตัว พวกเขาพูดแบบนั้นแม้แต่ตอนที่ (ฮิลลารี) คลินตันลงเลือกตั้ง เขาพูดกันว่า ‘ไม่นะ เธอเป็นผู้หญิง แล้วถ้าเธอเป็นประจำเดือนล่ะ เธอจะก่อสงคราม’”
ในช่วงไม่กี่วันมานี้ ทั้งทรัมป์และแฮร์ริสมีวาทะกล่าวหาตอบโต้กันไปมาบนสื่อสังคมออนไลน์ ว่าอีกฝ่ายพยายามเลี่ยงที่จะไม่ขึ้นเวทีดีเบตที่มีกำหนดจัดในวันที่ 10 กันยายน
แต่ท้ายที่สุด สื่อเอบีซีนิวส์ของสหรัฐฯ ก็ยืนยันว่าทั้งสองจะขึ้นเวทีโต้อภิปรายกันในวันที่ 10 กันยายน ที่ทางสำนักข่าวเป็นผู้จัด
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ประกาศเรียกร้องให้การจัดดีเบตเลื่อนมาเป็นวันที่ 4 กันยายน และให้จัดโดยสำนักข่าวที่เขาชอบ
บราวน์มองว่าการขยับดังกล่าวของทรัมป์อาจเป็นท่วงท่าที่ชาญฉลาด หากพิจารณาจากการที่แฮร์ริสมีปูมหลังเป็นอัยการมาก่อน ผนวกกับผลงานการดีเบตที่ผ่านมาในอดีต จึงทำให้หลายคนเชื่อว่า เธอจะได้เปรียบทรัมป์บนเวทีปะทะคารม
นับตั้งแต่ผู้หญิงมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในปี 1920 สัดส่วนของผู้ลงคะแนนเสียงในคูหาเลือกประธานาธิบดีก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ศูนย์สำหรับสตรีและการเมืองอเมริกัน (Center for American Women and Politics) ระบุว่าผู้หญิงออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งประธานาธิบดีมากกว่าผู้ชายมาตั้งแต่ช่วงปี 1980 และในการเลือกตั้งเมื่อปี 2020 ข้อมูลจาก Pew Research ก็บ่งชี้ว่า โจ ไบเดน ได้รับคะแนนเสียงจากผู้หญิงมากกว่าทรัมป์ 11 เปอร์เซ็นต์
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น