ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้เชี่ยวชาญชี้ แผนการตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ‘แขวนบนเส้นด้าย’


FILE - Move Forward Party leader Pita Limjaroenrat attends a press conference to announce the party's agreement with coalition partners in Bangkok, May 22, 2023.
FILE - Move Forward Party leader Pita Limjaroenrat attends a press conference to announce the party's agreement with coalition partners in Bangkok, May 22, 2023.

แม้การเลือกตั้งทั่วไปของไทยจะผ่านมาได้ราว 1 เดือนแล้ว และผลการลงคะแนนเสียงของประชาชนก็กลายมาเป็นบันทึกหน้าใหม่ทางประวัติศาสตร์ เมื่อฝ่ายหัวก้าวหน้าเป็นผู้กุมเสียงสนับสนุนมากกว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างเด็ดขาด ในเวลานี้ คำถามที่ยังรอความชัดเจนอยู่ก็คือ ผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีโอกาสขึ้นบริหารประเทศได้จริงหรือไม่

ขณะที่ พรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดยังรอดูว่า วุฒิสมาชิกที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลชุดก่อนซึ่งนำทีมโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยอมเทคะแนนมาให้ตนจนถึง 376 เสียงเพื่อให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่หรือไม่ ณพล จาตุศรีพิทักษ์ นักรัฐศาสตร์จาก ISEAS Yusof Ishak Institute ในสิงคโปร์ เตือนว่า พิธา และพรรคก้าวไกล ยังคงต้องเผชิญความท้าทายอีกหลายประการ นอกเหนือจากแรงหนุนจากสมาชิกสภาสูง

ณพล บอกกับ วีโอเอ ว่า ความท้าทายที่ว่ามีทั้ง “ความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะบั่นทอนคุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพิธา ผ่านสถาบันคนกลางผู้ทำหน้าที่ตัดสินต่าง ๆ [และ] การตั้งรัฐบาลผสมที่ไม่ค่อยง่ายนักร่วมกับพรรคเพื่อไทยซึ่งอาจได้ส้มหล่น ถ้าหากพิธาถูกตัดสิทธิ์[ทางการเมือง]” ขณะที่ ยังมีความกังวลด้วยว่า รัฐบาลผสมภายใต้การนำของพรรคก้าวไกลอาจไปไม่รอดก็เป็นได้

แผนการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกลนั้นเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนหลังการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วม (MOU) ระหว่างพรรคนี้และพรรคอื่น ๆ อีก 7 พรรค ที่ยอมรับวาระสำคัญ 23 ข้อในการทำหน้าที่รัฐบาล ซึ่งรวมถึง การปฏิรูปกองทัพและการยุติการเกณฑ์ทหาร โดยไม่มีการพูดถึงประเด็นอ่อนไหว อันได้แก่ มาตรา 112 ที่พรรคร่วมรัฐบาลนั้นนยังไม่สามารถตกลงกันได้

และขณะที่ พิธา แสดงความมั่นใจว่า พรรคก้าวไกลจะเดินหน้ายื่นเรื่องแก้กฎหมายนี้ให้ได้ ณพล จาตุศรีพิทักษ์ ให้ความเห็นว่า อุปสรรคซึ่งพิธาและพรรคก้าวไกลกำลังเผชิญในเรื่องนี้ “เน้นย้ำปัญหาของประเทศ ในการก้าวข้ามผ่านรัฐบาลผสมทหารที่ยังมุ่งมั่นในการปกป้องผลประโยชน์ต่าง ๆ ของตนจากสถานภาพที่มีอยู่เดิมของการเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม”

ขณะเดียวกัน ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จาก Institute of Security and International Studies (ISIS) ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า โอกาสของพรรคก้าวไกลที่จะได้ขึ้นมานำรัฐบาลใหม่นั้นยังแขวนอยู่บนเส้นด้ายอยู่ ขณะที่ คณะกรรมการการเลือกตั้งเตรียมสอบสวนพิธา ในกรณีการถือครองหุ้นธุรกิจสื่อขณะลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งหากถูกตัดสินว่ามีความผิด หัวหน้าพรรคดาวรุ่งรายนี้ก็จะถูกตัดสิทธิ์ ถูกจำคุกสูงสุดเป็นเวลา 10 ปี และถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 20 ปี

ศ.ดร.ฐิตินันท์ บอกกับ วีโอเอว่า ข้อเสนอแผนปฏิรูปต่าง ๆ ของพรรคก้าวไกลโดยเฉพาะในด้านกองทัพและสถาบันเบื้องสูงคือ ประเด็นที่ทำให้การที่พรรคนี้จะสามารถก้าวขึ้นมารับหน้าที่บริหารประเทศเป็นไปได้ไม่ง่าย พร้อมเตือนว่า หากความต้องการของประชาชนที่ออกมาในรูปของผลการเลือกตั้งล่าสุดกลับไม่เป็นไปตามครรลอง สถานการณ์การเมืองก็อาจสั่นคลอนและความวุ่นวายก็อาจปะทุขึ้นมาอีกได้

ส่วน แมทธิว วีลเลอร์ นักวิเคราะห์อาวุโสด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จาก International Crisis Group ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่จับตาดูสถานการณ์วิกฤตทั่วโลก กล่าวว่า ประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับการประท้วงรอบใหม่ หากผู้ชนะการเลือกตั้งไม่สามารถขึ้นนำรัฐบาลได้

วีลเลอร์ ระบุในอีเมลที่ส่งถึง วีโอเอ ว่า “สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นคือการประท้วงตามท้องถนน ซึ่งเป็นส่วนประกอบมาตรฐานของภาพการเมืองไทย” และว่า “ขนาดและระยะเวลาของการประท้วงนั้น ส่วนหนึ่งอาจขึ้นอยู่กับประเด็นที่ว่า พรรคการเมืองใดจะได้เป็นรัฐบาลและ[พรรคก้าวไกล] และผู้บริหารของพรรคจะถูกลงโทษแบบใด”

  • ที่มา: วีโอเอ

XS
SM
MD
LG