ธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England) ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกครั้งในวันพฤหัสบดี หลังระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางสวิสขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว ขณะที่ รัฐบาลต่าง ๆ ยังคงหาทางรับมือกับภาวะเงินเฟ้อและเหตุวุ่นวายในตลาดการเงินหลังการล้มครืนของธนาคารสัญชาติอเมริกัน 2 แห่งอยู่ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
ในเวลานี้ นักลงทุนยังคงตั้งคำถามอยู่ว่า ธนาคารกลางทั้งหลายจะเดินหน้านโยบายการเงินแบบเข้มงวดต่อไปหรือไม่ หลังธนาคารซิลิคอน แวลลีย์ และธนาคารซิกเนเจอร์ ล้มไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ และทำให้เกิดความระส่ำระสายในแวดวงธนาคารทั่วโลก และยังส่งผลให้ธนาคารเครดิตสวิส ซึ่งเป็นสถาบันการเงินอายุ 167 ปีและมีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรปต้องตกบ่วงดังกล่าวไปด้วย
ธนาคารกลางอังกฤษที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยมา 11 ครั้งติดต่อกันขึ้นสู่ระดับ 4.25 % ในวันพฤหัสบดี ระบุในแถลงการณ์ยอมรับว่า ยังมี “การเคลื่อนไหวขนาดใหญ่และผันผวน” ในตลาดการเงินอยู่ แต่ยืนยันว่า ระบบธนาคารอังกฤษนั้นยังคงมีความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อยู่
แถลงการณ์ของธนาคารอังกฤษยังระบุด้วยว่า “(คณะกรรมการนโยบายการเงิน) จะเดินหน้าจับตาดูผลกระทบใด ๆ ก็ตามต่อสถานการณ์ด้านเครดิตของครัวเรือนและภาคธุรกิจอย่างใกล้ชิด รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคและภาพรวมของเงินเฟ้อด้วย”
ในช่วงเช้าของวันพฤหัสบดี ธนาคารกลางสวิส (Swiss National Bank) ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของตนขึ้น 0.5% พร้อมกล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการธนาคารเครดิตสวิสโดยธนาคารยูบีเอส (UBS) ที่เป็นคู่แข่งนั้นช่วยให้สวิตเซอร์แลนด์รอดพ้นภัยพิบัติทางการเงินมาได้
ทั้งนี้ ธนาคารกลางต่าง ๆ ในยุโรปต่างขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของตนตามหลังการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ของเฟดในวันพุธ และความออกมาให้ความเห็นของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ที่ว่า ภาวะตึงเครียดในอุตสาหกรรมธนาคารอาจทำให้เกิดวิกฤตสินเชื่อ ซึ่งจะมีผลกระทบ “อย่างมีนัย” ต่อเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวของสหรัฐฯ ได้
- ที่มา: รอยเตอร์