ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ไบเดนปิดปากเงียบประเด็นสิทธิมนุษยชน ขณะเยือนเวียดนาม-อินเดีย จริงหรือ?


ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับประธานาธิบดีเวียดนาม ที่กรุงฮานอย เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2023
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับประธานาธิบดีเวียดนาม ที่กรุงฮานอย เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2023

สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า รายงานสรุปของทำเนียบขาวซึ่งเผยแพร่ออกมาขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน กำลังเยือนเวียดนาม มีความยาวทั้งหมดมากกว่า 2,600 คำ แต่ในส่วนที่พูดถึงสิทธิมนุษยชนนั้นมีเพียง 112 คำเท่านั้น ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า ผู้นำสหรัฐฯ ค่อนข้างสงวนท่าทีเกี่ยวกับประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเวียดนามและอินเดีย แลกกับผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ จริงหรือไม่?

ในมุมมองทางการค้าและเชิงยุทธศาสตร์แล้ว การเยือนเวียดนามและอินเดียของประธานาธิบดีไบเดนครั้งนี้ ถือว่าเป็นการกระชับความสัมพันธ์ที่ดีที่อาจช่วยให้อเมริกาสามารถคานอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้ได้

แต่สำหรับนักสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก ภารกิจของไบเดนครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นความผิดหวัง เมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่รัฐบาลอเมริกันชุดนี้รับปากไว้เมื่อเข้าบริหารประเทศเมื่อปี 2021 ว่าจะให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนเป็นอันดับต้น ๆ

U.S. President Joe Biden meets with Vietnam's Prime Minister Pham Minh Chinh in Hanoi, Sept. 11, 2023.
U.S. President Joe Biden meets with Vietnam's Prime Minister Pham Minh Chinh in Hanoi, Sept. 11, 2023.

ที่เวียดนาม ไบเดนยกระดับความสัมพันธ์กับเวียดนามเป็น "หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน" (Comprehensive Strategic Partnership) และเพิ่มความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีคลาวน์ เซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยข้อตกลงขายเครื่องบินโดยสาร โบอิ้ง 737 แมกซ์ จำนวน 50 ลำ มูลค่า 7,800 ล้านดอลลาร์ ให้แก่สายการบินเวียดนามแอร์ไลนส์ด้วย

อย่างไรก็ตาม นักสิทธิมนุษยชนมองว่า การที่ผู้นำสหรัฐฯ มิได้หยิบยกประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนมาหารือระหว่างการเยือนสองประเทศนี้ อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่เพียงแต่ในอินเดียและเวียดนามเท่านั้น
แคโรลีน แนช แห่งองค์กร Amnesty International กล่าวว่า "รัฐบาลไบเดนเก็บประเด็นสิทธิมนุษยชนออกไปเพื่อผลประโยชน์ในด้านความเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลสองประเทศนั้นซึ่งถูกมองว่ามีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าสหรัฐฯ สามารถยอมรับได้กับความล้มเหลวในการปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศนั้น"
เดเร็ก กรอสแมน ผู้เชี่ยวชาญแห่ง RAND Corp กล่าวว่า เป้าหมายหลักของไบเดนคือการโน้มน้าวให้อินเดียและเวียดนามเข้าร่วมเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับอเมริกาในแถบอินโด-แปซิฟก เพื่อคานอำนาจจีน "ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไบเดนจึงลดความสำคัญหรือหลีกเลี่ยงประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน" "ซึ่งการทำเช่นนั้นคือการให้ท้ายประเทศเหล่านั้น รวมถึงชาติอื่น ๆ เช่น ซาอุดิอาระเบีย ให้เดินหน้าในสิ่งที่ทำอยู่ต่อไป"
ที่ผ่านมา พรรครัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี ถูกกล่าวหาว่าเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ โดยเฉพาะชาวมุสลิม และยังสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยเหล่านั้น
องค์กร ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ หรือ HRW กล่าวหาด้วยว่า การเลือกปฏิบัติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นในระบบยุติธรรม ตลอดจนจนความพยายามของเจ้าหน้าที่รัฐในการปิดปากนักรณรงค์และผู้สื่อข่าวด้วยการดำเนินคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง

ในกรณีของเวียดนาม HRW ระบุว่า รัฐบาลเวียดนามจับกุมคุมขังนักโทษการเมืองอย่างน้อย 159 คน และในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ศาลที่ควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้สั่งตัดสินจำคุกนักโทษการเมืองอย่างน้อย 15 คนเป็นเวลาหลายปีซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของพวกเขาที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม

ผู้สื่อข่าวที่เวียดนามถามประธานาธิบดีไบเดนว่า เขาได้นำเรื่องผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ขึ้นมาก่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือไม่? ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ ตอบว่า ตนได้หยิบยกเรื่องสิทธิมนุษยชนขึ้นมาหารือกับทุกคนที่พบ

แต่ จอห์น ซิฟตัน แห่ง ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ บอกว่า การนำเรื่องนี้ขึ้นมาพูดในที่ส่วนตัวนั้นไม่เพียงพอ และรัฐบาลเหล่านั้นจำเป็นต้องรู้ถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนของตนเอง

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG