หลังจากที่ปธน.โจไบเดน ประกาศถอนตัวจากการเลือกตั้งเพื่อเเข่งเป็นผู้นำสหรัฐฯ อีกสมัย และสนับสนุนให้ รองปธน. คามาลา แฮร์ริสลงชิงชัยเเทน เกิดคำถามขึ้นมากมายจากการตัดสินใจ "เปลี่ยนม้ากลางศึก" ครั้งนี้
บททดสอบเเรกจะเกิดขึ้นที่การประชุมใหญ่พรรคเดโมเเครต ในวันที่ 19 ส.ค. ที่นครชิคาโก ซึ่งพรรคจะลงมติเลือกตัวแทนลงสมัครเป็นประธานาธิบดี เเข่งกับตัวเเทนของพรรครีพับลิกัน ซึ่งก็คืออดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์
ในอดีต เคยมีผู้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ตัดสินใจไม่ลงเเข่งเป็นผู้นำประเทศต่อมาแล้ว คือในปี 1952 ที่แฮร์รี ทรูเเมน เริ่มเดินหน้าเเข่งเป็นผู้นำประเทศอีกสมัย แต่เปลี่ยนแผนในเวลาต่อมา และใน 1968 เหตุการณ์แบบเดียวกันเกิดขึ้นในยุคของปธน. ลินดอน จอห์นสัน
แต่ทั้งสองซึ่งต่างสังกัดพรรคเดโมเเครตตัดสินใจถอนตัวตั้งแต่ช่วงต้นของการเริ่มรณรงค์หาเสียง จึงทำให้พรรคมีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้า
อย่างไรก็ตาม คนที่ขึ้นมาเป็นตัวเเทนทรูแมนและจอห์นสันพ่ายเเพ้ให้กับคู่แข่งจากรีพับลิกันทั้งคู่
ศาสตราจารย์ ปีเตอร์ ลอจ แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน พิจารณาถึงการตัดสินใจของไบเดนและกล่าวว่า ไม่เคยมีตัวเเทนลงเเข่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใดในประวัติศาสตร์ที่ถอนตัวจากการเลือกตั้งเมื่อเวลาผ่านไปเนิ่นนานขนาดนี้
ลอจกล่าวว่าการที่ไบเดนถอนตัวเมื่อวันอาทิตย์ เป็นการตัดสินใจ "ครั้งประวัติศาสตร์อย่างเเท้จริง"
เขากล่าวด้วยว่า "ระบบการเมืองอเมริกัน ไม่เหมือนส่วนใหญ่ของโลก การเลือกตั้งของเรามีกระบวนการไม่รู้จบ และมีค่าใช้จ่ายสูงอย่างไม่จบไม่สิ้น"
"อยู่ ๆ ก็เหมือนกับว่าเรามีการยุบสภาเหมือนที่เกิดขึ้นในอังกฤษไม่นานนี้" ลอจกล่าว
ในการประชุมใหญ่พรรคเดโมเเครตที่จะเกิดขึ้นเดือนหน้า ตัวเเทนพรรคจำนวนเกินกึ่งหนึ่งอย่างท่วมท้น คือราว 3,900 คนเป็นคะเเนนที่สนับสนุนไบเดน แต่เมื่อเขาถอนตัวจากการเลือกตั้งไปแล้ว คะเเนนเหล่านี้สามารถเลือกใครก็ได้
ตามปกติ ที่การประชุมใหญ่พรรค ความไม่แน่นอนต่าง ๆ ว่าใครจะได้เป็นผู้สมัครเป็นประธานาธิยดีในนามพรรค จะคลี่คลายไปตั้งแต่ก่อนวันจัดงาน
ดังนั้นกิจกรรมที่เกิดขึ้นจะเป็นไปตามเเผนที่วางไว้ โดยมีบรรดาบุคคลขึ้นมากล่าวสุนทรพจน์เพื่อกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกร่วมและเป็นภาพจำบนสื่อต่าง ๆ ส่วนกระบวนการเลือกตัวเเทนพรรคจะเป็นเรื่องของขั้นตอนพิธีการเท่านั้น
แต่สำหรับปีนี้ ชาวเดโมเเครตกำลังเผชิญความไม่แน่นนอนมากกว่าปีใด ๆ เพราะหากใครเสนอลงเเข่งในเวลานี้ และได้รายชื่อของตัวเเทนพรรค 300 คน เขาก็จะเข้ากระบวนการคัดสรรภายในพรรคได้ หากเกิดการประชุมเเบบเปิด
ในความพยายามเลี่ยงเหตุการโกลาหล จึงเกิดเเนวคิดที่จะจัดให้มีการโหวต เพื่อให้ได้ผู้สมัครในนามเดโมเเครตเเทนไบเดนก่อนวันประชุมใหญ่พรรค ซึ่งในเวลานี้นักการเมืองเดโมเเครตระดับต้น ๆ จำนวนมากต่างออกมาประกาศสนับสนุน คามาลา แฮร์ริส
แกรี ชมิตต์ นักวิเคราะห์แห่งสถาบัน American Enterprise Institute กล่าวว่า "บางทีคุณไม่อยากให้มีการประชุมแบบเปิดอย่างเต็มที่ เพราะมันจะสร้างความเเตกแยกในพรรค"
"ช่วงไม่กี่วันจากนี้ จะสำคัญมาก ๆ ว่าคนทำโพลล์และผู้บริจาคเงินให้เดโมเเครตจะออกมาสนับสนุนแฮร์ริสอย่างคึกคักหรือไม่ " ชมิตต์กล่าว
คณะกรรมการระดับชาติของพรรคเดโมเเครต หรือ Democratic National Committee เจ้าภาพการประชุมใหญ่ของพรรค กล่าวว่า งานดังกล่าวจะดำเนินไป "อย่างโปร่งใสและเป็นระเบียบเรียบร้อย"
ศาสตรจารย์ โธมัส ชวอร์ตซ์ แห่งมหาวิทยาลัยเวนเดอร์บิลต์ กล่าวว่าหากสรุปแล้วว่าแฮร์ริสได้เป็นตัวเเทนพรรคเดโมเเครต ความกังวลต่าง ๆ น่าจะคลายลง
ในทางตรงข้าม เขากล่าวว่าหากเกมส์พลิกและเธอไม่ผ่านการสรรหาของพรรค ผู้ที่สนับสนุนเธอจากกลุ่มผู้หญิงเชื้อสายเอเชีย และเชื้อสายแอฟริกัน อาจไม่พอใจ และเป็นที่มาของความวุ่นวายภายในเดโมเเครต
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับการเมืองอเมริกันในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาต่างเต็มไปด้วยสถานการณ์พิเศษ เช่นการออกมาส่งเสียงของชาวเดโมเเครตในการกดดันให้ไบเดนถอนตัวจากการเเข่งขันหลังทำผลงานดีเบทไม่ดี หรือการที่ทรัมป์ถูกลอบยิง ปัจจัยเหล่านี้ต่างทำให้เส้นทางของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปีนี้ยากที่จะคาดเดา
อาจารย์ เจนนิเฟอร์ เมอร์ซีกา แห่งมหาวิทยาลัย Texas A&M กล่าวว่าสิ่งที่เดาได้เพียงอย่างเดียวคือ น่าจะมีการเเข่งขันหลังฉาก เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบเชิงอำนาจ
"มันมีเเต่การเดาสถานการณ์ไปต่าง ๆ นานา" เธอกล่าว "เราไม่เคยเจออะไรเเบบนี้มาก่อน" เธอกล่าว
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น