ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘แฮร์ริส-ทรัมป์’ เตรียมประชันบนเวทีดีเบตนัดสำคัญขึ้นเป็นผู้นำสหรัฐฯ


อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และ รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส
อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และ รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส

ตั้งแต่เช้าวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น เจ้าหน้าที่นครฟิลาเดลเฟียได้ทำการปิดถนนสายรอบ ๆ สถานที่จัดการดีเบต ซึ่งก็คือ National Constitution Center ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ พร้อมมีการยกระดับการรักษาปลอดภัยอย่างเต็มที่ทั่วพื้นที่ใจกลางเมือง

เจ้าหน้าที่ตำรวจฟิลาเดลเฟียยังได้เตรียมพร้อมรับกับกลุ่มผู้ประท้วงต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง กลุ่มผู้สนับสนุนปาเลสไตน์ที่ไม่พอใจกับการที่แฮร์ริสยังคงให้การสนับสนุนอิสราเอลในการทำสงครามในกาซ่า

ในการนี้ มีการตั้งแนวรั้วรอบ ๆ สถานที่จัดการดีเบตรวมทั้งพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น อาคารจัดแสดงระฆังแห่งเสรีภาพ (Liberty Bell) ซึ่งเป็นระฆังที่มีการลั่นเพื่อประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาว่าจะไม่ขึ้นตรงต่อจักรภพอังกฤษในปี 1776 และอาคาร Independence Hall ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะสถานที่ที่มีการอภิปราย แก้ไขและลงมติเห็นชอบคำประกาศอิสรภาพและรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อเกือบ 250 ปีก่อน

ในส่วนของการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนนั้น มีความแตกต่างจากการจัดการดีเบตระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดนและอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะสื่อถูกจัดให้เฝ้าติดตามชมการโต้อภิปรายระหว่างรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส และทรัมป์ จากศูนย์การประชุมเพนซิลเวเนียที่อยู่ห่างออกไปราว 800 เมตร และจะเป็นที่ที่ตัวแทนของพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองจะมาพบกับสื่อต่าง ๆ ด้วย

ดีเบตที่ต้องจับตามอง

การเผชิญหน้าของผู้ท้าชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ ในครั้งนี้เป็นสิ่งที่ผู้คนเฝ้ารอดูอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อการดีเบตระหว่างไบเดนและทรัมป์จบลงและนำไปสู่การตัดสินใจของปธน.ไบเดนที่ถอนตัวจากการเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งครั้งนี้ พร้อมเสนอชื่อแฮร์ริสให้เป็นตัวแทน

นอกจากนั้น ทรัมป์และแฮร์ริสไม่เคยพบกันตัวต่อตัวมาก่อน และยังไม่เคยแม้แต่จะยกหูโทรศัพท์หากันด้วย

ในครั้งนี้ นักวิเคราะห์เชื่อว่า การโต้อภิปรายของสองผู้ท้าชิงอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญในการชี้วัดว่า ใครจะเป็นผู้มีชัยในศึกเลือกตั้งที่ผลสำรวจต่าง ๆ ชี้ว่า ไม่มีใครได้เปรียบกว่าใครเท่าใดเลย

ทั้งนี้ ทรัมป์และแฮร์ริสต่างก็มีสไตล์ในการนำเสนอแนวคิดของตัวเองที่อยู่กันคนละขั้วด้วย

โดยทรัมป์นั้นเฝ้าโจมตีเรื่องความสามารถ สติปัญญาและบุคลิกของแฮร์ริสมาโดยตลอด ทั้งยังคาดการณ์ด้วยว่า ตนเองมีโอกาสชนะการดีเบตครั้งนี้ยิ่งกว่าเมื่อครั้งขึ้นเวทีกับไบเดนเสียอีก

ทรัมป์เคยกล่าวไว้ด้วยว่า ไบเดนนั้นเป็นคนที่ฉลาดกว่าแฮร์ริส แต่ทั้งคู่ก็ต้องการจะทำการดีเบตอยู่ดี ส่วนแฮร์ริสนั้น รายงานข่าวระบุว่า ก่อนจะมาขึ้นเวทีดีเบตในวันอังคาร รองปธน.หญิงคนแรกของสหรัฐฯ เลือกที่จะหยุดพักกระบวนการเตรียมตัวโต้อภิปรายด้วยซ้ำ

และในระหว่างหยุดพักนั้น ผู้สื่อข่าวได้ถามว่า มีการเตรียมรับมือทรัมป์อย่างไร และแฮร์ริส ก็ตอบเพียงว่า มีการเตรียมตัวไว้หลายอย่าง ก่อนจะกล่าวว่า การเลือกตั้งนี้คือช่วงเวลาที่จะทำให้สหรัฐฯ หยุดแตกแยกและสร้างความสามัคคีเพื่อก้าวไปข้างหน้า

เดิมพันครั้งใหญ่ของสองผู้ท้าชิง

ในการดีเบตระหว่างทรัมป์และไบเดนเมื่อเดือนมิถุนายนนั้น มีรายงานว่า ประชาชนกว่า 51 ล้านคนในสหรัฐฯ ได้ติดตามการโต้อภิปราย แต่ในครั้งนี้ มีการคาดกันว่า ตัวเลขน่าจะยิ่งพุ่งสูงขึ้นไปอีก เพราะนี่คือเวทีที่เป็นเดิมพันครั้งใหญ่ทั้งสำหรับทรัมป์และแฮร์ริส

เนท เฟรนช์ จากมหาวิทยาลัยเวค ฟอเรสต์ บอกกับวีโอเอว่า ทรัมป์ต้องพิสูจน์ให้ประชาชนเชื่อว่า ตนสามารถเป็นประธานาธิบดีได้ และพิสูจน์ให้ผู้ที่ติดตามสนับสนุนเชื่อว่า ตนสามารถจะแสดงความแน่วแน่และดึงดันได้ โดยไม่ต้องทำตัวหยาบคาย ส่วน คามาลา แฮร์ริส ก็ต้องพิสูจน์ว่า เธอคือผู้มีคุณสมบัติเป็นประธานาธิบดี ทั้งยังสามารถเป็นฝ่ายรุกและถอยรับได้ รวมทั้งอธิบายว่านโยบายของเธอต่างจากของไบเดนอย่างไร โดยไม่ได้ฉีกไปจากแนวทางของพรรคเดโมแครตด้วย

ในการดีเบตครั้งนี้ เชื่อกันว่า ผู้ดำเนินการโต้อภิปราย ซึ่งก็คือ เดวิด มัวร์ และลินด์ซีย์ เดวิส จากสถานีข่าวเอบีซี นิวซ์ จะยิงประเด็นคำถามเกี่ยวกับปัญหาหลัก ๆ ของประเทศ ซึ่งก็คือ เศรษฐกิจ สิทธิด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ สถานการณ์ตามแนวชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก นโยบายต่างประเทศ และเรื่องอื่น ๆ ด้วย

และเหมือนครั้งที่แล้ว ทั้งทรัมป์และแฮร์ริสจะสามารถนำเพียงกระดาษ ปากกาหนึ่งด้าม และน้ำดื่มขึ้นไปบนเวที และไม่สามารถปรึกษากับทีมงานของตนได้ตลอดการโต้อภิปรายที่ทั้งคู่จะมีเวลาทั้งหมด 90 นาที โดยจะได้คนละ 2 นาที เพื่อตอบคำถามของผู้ดำเนินรายการ และอีก 2 นาทีเพื่อโต้เพิ่มเติม รวมทั้งอีก 1 นาทีเพื่อตอบคำถามที่อาจพ่วงตามมาหรือให้คำอธิบายใด ๆ เพิ่ม

นอกจากนั้น ไมโครโฟนของผู้ที่ไม่ได้กำลงตอบคำถามผู้ดำเนินรายการจะถูกปิดเพื่อไม่ให้ใช้ขัดอีกฝ่าย และทั้งคู่จะไม่สามารถตั้งคำถามใส่กันได้ด้วย

เจเรมี ซูรี จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส วิทยาเขตออสติน กล่าวว่า การโต้อภิปรายนี้คือพื้นที่ที่สองผู้ท้าชิงจะกล่าวอะไรก็ได้ พูดอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องมาอธิบายว่าจะทำการใด ๆ ที่กล่าวออกมาอย่างไรต่อไป แต่อย่างน้อย สิ่งที่สำคัญสำหรับทั้งคู่ก็คือ การใช้เวลากล่าวถึงจุดยืนของตนในแต่ละเรื่องและให้ภาพรวมที่จะเกิดขึ้นหากตนได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศบ้าง

ความสำคัญของรัฐเพนซิลเวเนีย

ชาวนครฟิลาเดลเฟียบางคนแสดงความหวังว่า เวทีการดีเบตนี้จะช่วยให้ตนได้รู้จักแฮร์ริสมากขึ้น เช่น แดน เบซเลอร์ ที่บอกกับรอยเตอร์ว่า ในการเลือกตั้งปี 2020 นั้น ตนไม่ได้ประทับใจในตัวรองปธน.หญิงคนปัจจุบันมากนัก เมื่อตอนขึ้นเวทีโต้อภิปรายการเลือกตั้งขั้นต้นของพรรคเดโมแครต แต่ก็กล่าวว่า “เพราะเธอเคยเป็นอัยการ ผมคิดว่าเธอน่าจะทำหน้าที่ของตนได้ดีกว่าไบเดนเมื่อตอนที่อายุเท่าเธอ”

ที่ผ่านมา พรรคเดโมแครตมักเป็นฝ่ายชนะในรัฐเพนซิลเวเนีย และได้คะแนนเสียงนำพรรครีพับลิกันอย่างมากในพื้นที่นครฟิลาเดลเฟีย ซึ่งมากพอที่จะชดเชยความพ่ายแพ้ในพื้นที่ที่เหลือของรัฐนี้

ในปี 2020 สถิติระบุว่า มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1984 มา ซึ่งก็คือ 68% แต่ก็ยังต่ำกว่าตัวเลขรวมของรัฐนี้ที่ 76.5% อยู่ดี

การโต้อภิปรายระหว่างทรัมป์และแฮร์ริสที่นครฟิลาเดลเฟียนี้ยังเป็นการสื่อถึงความสำคัญของรัฐเพนซิลเวเนียที่เป็นรัฐสมรภูมิซึ่งมีคณะผู้แทนเลือกตั้งปธน.ของรัฐ (Electoral College) มากถึง 19 คนที่อาจชี้วัดว่า ใครจะเป็นผู้กำชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ โดยเฉพาะเมื่อผู้สันทัดกรณีทั้งหลายคาดการณ์ว่า ผู้ที่มีชัยในเพนซิลเวเนียคือผู้ที่จะได้ขึ้นบริหารทำเนียบขาวต่อไป

  • ข้อมูลบางส่วนมาจากรอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG