ปัจจุบันมีประชากรเชื้อสายเวียดนามอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ มากกว่า 1.2 ล้านคน ส่วนใหญ่อพยพมาตั้งรกรากหลังสงครามเวียดนาม ถือเป็นกลุ่มผู้อพยพอีกเชื้อชาติหนึ่งที่มีชุมชนขนาดใหญ่ในอเมริกา แต่ดูเหมือนภายในครอบครัวชาวเวียดนามเองก็มีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับนโยบายคนเข้าเมืองของสหรัฐฯ
ฮง แฟม อพยพจากเวียดนามมายังสหรัฐฯ เมื่อปี 1975 ในช่วงปลายสงครามเวียดนาม เขาเล่าให้ฟังถึงช่วงที่ยังอยู่ที่เวียดนามว่ามีชีวิตยากลำบาก ต้องอาศัยรายได้จากการขับรถรับจ้างระหว่างเมืองต่าง ๆ ทางใต้ของเวียดนามก่อนที่กองทัพคอมมิวนิสต์จะเข้ายึดครอง ในที่สุดเขาถูกส่งตัวมายังอเมริกาผ่านโครงการด้านมนุษยธรรม
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีชาวเวียดนามจำนวนมากขึ้นที่ใช้วิธีลักลอบเดินทางเข้าสหรัฐฯ ผ่านพรมแดนทางภาคใต้ติดกับเม็กซิโก เมื่อปีที่แล้ว สำนักงานศุลกากรและการปกป้องชายแดนของสหรัฐฯ ระบุว่า สามารถจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองที่เป็นชาวเวียดนามได้มากกว่า 3,000 คนเมื่อปีที่แล้ว และเกิน 3,200 คนแล้วในปีนี้ เทียบกับจำนวนไม่ถึง 300 คนเมื่อปี 2022
แชนดอน ฟาน หนึ่งในทนายความเชื้อสายเวียดนาม กล่าวว่า "กลุ่มคนเหล่านี้ขาดความรู้และได้รับข่าวสารผิด ๆ ว่าสามารถลักลอบเข้าสหรัฐฯ ได้ง่าย ๆ พวกเขากำลังล้อเล่นกับชีวิตตัวเอง ล้อเล่นกับขบวนการลักลอบค้ามนุษย์และเครือข่ายที่จะทำให้ครอบครัวของพวกเขาเป็นหนี้ก้อนใหญ่"
ทนายความผู้นี้ชี้ว่า ผู้ลักลอบเข้าเมืองจำนวนมากจ่ายเงินหลายหมื่นดอลลาร์เพื่อให้ขบวนการค้ามนุษย์ลักลอบนำพวกเขาเดินทางจากเวียดนามเข้าไปจีน ต่อไปยังยุโรป อเมริกาใต้ ก่อนที่จะมายังชายแดนสหรัฐฯ
ประเด็นเรื่องผู้อพยพเข้าเมืองกลายเป็นประเด็นร้อนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปีนี้ รวมทั้งในการดีเบตระหว่างรองปธน.คามาลา แฮร์ริส และอดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังมีขึ้นที่นครฟิลาเดลเฟีย
เจเรมี ซูรี ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และกิจการสาธารณะ มหาวิทยาลัยแห่งเท็กซัส วิทยาเขตออสติน เชื่อว่า "ทุกคนต่างเห็นด้วยว่ากำลังเกิดปัญหาในระบบจัดการคนเข้าเมืองของสหรัฐฯ ข้อถกเถียงในเรื่องนี้อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ รัฐบาลอดีตปธน.ทรัมป์ ใช้วิธีลดจำนวนคนเข้าเมือง ขณะที่รัฐบาลพรรคเดโมแครตใช้วิธีควบคุม"
ทางด้าน มินห์ ลี ชาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนามในรัฐเท็กซัส มองในประเด็นที่ใกล้ตัวมากขึ้น
"ตัวฉันเองก็เป็นผู้อพยพดังนั้นฉันจึงมีความเห็นอกเห็นใจต่อบรรดาผู้อพยพเข้าเมืองคนอื่น ๆ ด้วย แต่ทุกประเทศก็มีพรมแดนของตัวเอง คนที่มาอาศัยที่นี่ก็ต้องเคารพกฎหมายและรัฐธรรมนูญของประเทศนี้ ซึ่งรัฐเท็กซัสก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักต่อการหลั่งไหลของผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายด้วย" มินห์ ลี กล่าว
แต่ ฮง แฟม ที่หนีการปกครองของคอมมิวนิสต์ในเวียดนามมายังอเมริกา มีความเห็นว่า ผู้อพยพอย่างเขามีเหตุผลที่จะลี้ภัยมายังสหรัฐฯ แตกต่างกับผู้ลักลอบเข้าเมืองเพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งเขาไม่สนับสนุน
ความเห็นของแฟมค่อนข้างสะท้อนแนวคิดของบรรดาชาวเวียดนามรุ่นเก่าที่นิยมพรรครีพับลิกัน แต่สำหรับคนเชื้อสายเวียดนามรุ่นใหม่ที่เกิดในสหรัฐฯ ดูเหมือนพวกเขาจะมีความเห็นต่างออกไป
เจสสิกา ฮายนห์ สตรีอเมริกันเชื้อสายเวียดนาม บอกว่า คุณแม่ของเธอค่อนข้างมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ที่ต้องการให้ทุกคนเดินทางมาอเมริกาอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งเธอสามารถเข้าใจได้ ซึ่งแม่ของเธอมองข้ามความจริงที่ว่าทุกคนต่างต้องการมาที่นี่เพราะอยากมีชีวิตที่ดีกว่า
ส่วน ลานา เหงียน ผู้นำชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนามในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส กล่าวว่า "เมื่อใครสักคนมีโอกาสจะมาที่นี่ พวกเขาจะทำทุกวิถีทาง ซึ่งตนไม่ติดใจเรื่องนั้น แต่พวกคุณต้องยอมทำเหมือนกับทุกคน ต้องจ่ายภาษี ต้องเป็นพลเมืองที่ดี"
สำหรับบรรดาผู้อพยพที่ข้ามพรมแดนเข้ามา สิ่งที่พวกเขาคาดหวังคืองานที่ดี และชีวิตที่ดีกว่าเดิม แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น พวกเขาอยากรู้ว่าประธานาธิบดีคนใหม่จะยินยอมให้พวกเขาอยู่ที่ประเทศนี้ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น