องค์การการค้าโลกไฟเขียวจีนเก็บภาษีสินค้า 645 ล้านดอลลาร์จากสหรัฐฯ

FILE PHOTO: World Trade Organization (WTO) logo in Geneva

Your browser doesn’t support HTML5

Business News


องค์การการค้าโลก หรือ WTO อนุญาตให้จีนเรียกเก็บภาษีตอบโต้กับสินค้านำเข้ามูลค่า 645 ล้านดอลลาร์ต่อปีจากสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นชัยชนะใหม่ของจีนในด้านข้อพิพาทการค้ากับสหรัฐฯ ที่ยืดเยื้อมายาวนาน

แต่คำตัดสินขององค์การการค้าโลก ความยาว 87 หน้านี้ ไม่ได้หมายความว่าจีนจะสามารถเรียกเก็บภาษีกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯได้ทั้งหมดหรือบางส่วนในทันที แต่คำตัดสินดังกล่าวอนุญาตให้จีนสามารถร้องขอในมาตรการเพื่อตอบโต้ต่อการเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดของสหรัฐฯ สำหรับสินค้าบางอย่างของจีนก่อนหน้านี้ได้ และในกรณีนี้สหรัฐฯ ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์คำตัดสินล่าสุดขององค์การการค้าโลกได้

ทั้งนี้ ประเด็นบาดหมางทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนดังกล่าว ย้อนไปในช่วงปี ค.ศ. 2012 ที่ WTO จัดตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่จีนยื่นฟ้องต่อ WTO ว่ามีการเก็บภาษีนำเข้าอย่างไม่เป็นธรรมจากสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ อ้างว่าเป็นการเรียกเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดกับสินค้าประเภทของจีน เช่น กระดาษ ยางรถยนต์และแผงโซลาร์เซล ที่ถูกจีนทุ่มตลาดเพื่อช่วยสนับสนุนธุรกิจของจีน

ในตอนแรกรัฐบาลปักกิ่งขอให้ตนสามารถเรียกเก็บภาษีกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 2,400 ล้านดอลลาร์ต่อปี ก่อนจะปรับลดลงเหลือ 788.75 ล้านดอลลาร์ แต่สหรัฐฯ ค้านว่า ระดับที่เหมาะสมนั้นไม่ควรเกิน 106 ล้านดอลลาร์ต่อปี

คำตัดสินของ WTO เมื่อวันพุธ นับเป็นครั้งที่สองที่ WTO อนุญาตให้จีนสามารถใช้มาตรการเพื่อตอบโต้ต่อภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดของสหรัฐฯ ซึ่งถูกพิจารณาว่าเป็นการละเมิดกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศ เพราะเมื่อปี 2019 WTO เพิ่งอนุญาตให้จีนปรับขึ้นภาษีกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์ด้วยเช่นกัน

อดัม ฮอดจ์ โฆษกผู้แทนการค้าสหรัฐฯ แสดงความผิดหวังต่อคำตัดสินของ WTO เมื่อวันพุธ โดยกล่าวว่าสะท้อนถึงการตัดสินตีความที่ผิดพลาด และทำลายบทบาทของ WTO ในการปกป้องสมาชิกและภาคธุรกิจจากการอุดหนุนด้านการค้าของจีนที่เป็นการบิดเบือนตลาด

โฆษกผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ยังระบุว่า การตัดสินขององค์การการค้าโลกครั้งล่าสุดนี้ ได้จุดประเด็นถึงความจำเป็นในการปฏิรูปกฎเกณฑ์และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของ WTO ซึ่งถูกใช้เป็นเกราะกำบังการปฏิบัติทางการค้าของจีนในรูปแบบที่ไม่อาศัยกลไกตลาด ที่ลดทอนรูปแบบการแข่งขันแบบตลาดเสรีที่ยุติธรรม