สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า ประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) น่าจะตัดสินใจคงแผนปรับเป้าการผลิตน้ำมันในเดือนมีนาคมไว้เช่นเดิม ในการประชุมกลุ่มที่จะมีขึ้นในวันพุธหน้า เนื่องจากปริมาณความต้องการน้ำมันโลกเริ่มเพิ่มขึ้น แม้ว่ายังจะมีปัจจัยความเสี่ยงด้านลบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และการปรับขึ้นของดอกเบี้ยก็ตาม
แม้ว่า แหล่งข่าว 2 แหล่งที่ใกล้ชิดกับกลุ่มโอเปกพลัสจะยอมรับว่า เวลานี้ ราคาน้ำมันโลกซึ่งพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี ที่เกือบ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อาจทำให้ทางกลุ่มพิจารณาทิศทางการทำงานอื่นๆ ต่อไป เสียงส่วนใหญ่จากแหล่งข่าวบอกกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ว่า ยังไม่มีสัญญาณว่าจะมีการตัดสินใจใหม่ๆ เกิดขึ้นในการประชุมออนไลน์ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้
แหล่งข่าวจากรัสเซียยังบอกกับรอยเตอร์ด้วยว่า รัสเซียเองมีความกังวลว่า การปรับขึ้นของราคาน้ำมันนั้นอาจส่งผลให้การผลิตปิโตรเลียมจากชั้นหินดินดาน (shale) ในสหรัฐฯ กลับมาคึกคักอีกครั้งได้ ขณะที่ ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงนั้นยังส่งผลเสียต่อมาร์จิ้นกำไรของโรงกลั่นในรัสเซียด้วย
ทั้งนี้ กลุ่มโอเปกพลัส ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกขององค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก 5 ประเทศ และประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอื่นๆ ที่รวมถึงรัสเซีย ได้เพิ่มเป้าการผลิตน้ำมันมาทุกเดือนตั้งแต่เดือนสิงหาคมของปีที่แล้ว เดือนละ 400,000 บาร์เรลต่อวัน หลังจากต้องปรับลดการผลิตมากเป็นประวัติการณ์ไปเมื่อปี ค.ศ. 2020
แหล่งข่าวภายในโอเปกพลัสรายหนึ่งให้ความเห็นว่า ทางกลุ่มน่าจะปรับเป้าการผลิตขึ้นอีก 400,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนมีนาคม เพราะ “ไม่มีเหตุผลอื่นใดที่จะไม่ทำเช่นนั้น”
ตั้งแต่ปีที่แล้ว โอเปกพลัสไม่ยอมทำตามแรงกดดันจากสหรัฐฯ ที่พยายามให้ทางกลุ่มปรับขึ้นผลผลิตน้ำมันให้เร็วกว่าที่ทำมา แม้ว่า ในความเป็นจริงแล้ว การปรับขึ้นจำนวนผลผลิตน้ำมันของกลุ่มจะไม่ได้สะท้อนภาพความเท่าเทียมกันในหมู่สมาชิก เพราะบางประเทศยังมีปัญหาข้อจำกัดด้านกำลังการผลิตอยู่ ซึ่งมีผลทำให้ราคาน้ำมันไม่ได้ปรับขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่
สำนักงานพลังงานสากล รายงานว่า โอเปกพลัสนั้นผลิตน้ำมันออกมาน้อยกว่าเป้าไปถึง 790,000 บาร์เรลต่อวันเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หลังประเทศสมาชิก เช่น ไนจีเรียและแองโกลาไม่สามารถปรับขึ้นกำลังการผลิตของตนได้
ธนาคารหลายแห่งและนักวิเคราะห์หลายราย รวมถึง มอร์แกน สแตนลีย์ และ เจพี มอร์แกน คาดว่า ราคาน้ำมันโลกจะพุ่งขึ้นไปถึงระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีนี้ ท่ามกลางภาวะตึงตัวของกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัสและความต้องการน้ำมันในระดับสูง
- ที่มา: รอยเตอร์