Your browser doesn’t support HTML5
เมื่อวันศุกร์ที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา พายุเฮอร์ริเคน Gonzalo ถาโถมเข้าใส่เกาะเบอร์มิวด้า ต้นไม้และเสาไฟฟ้าหักระเนระนาด ถนนหนทางถูกตัดขาด สร้างความเสียหายมหาศาล แต่การพยากรณ์อากาศและการเตือนภัยล่วงหน้าช่วยให้ประชาชนเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างดีทำให้ไม่มีคนเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บรุนแรง
บรรดานักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศเป็นเรื่องที่พยากรณ์ยากมากเนื่องจากต้องพิจารณาปัจจัยหลายอย่างร่วมกันแต่เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นในปัจจุบันช่วยให้การพยากรณ์อากาศทำได้ง่ายขึ้น
สำนักงาน U.S. National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) รายงานว่าระบบพยากรณ์มรสุมระบบใหม่ของทางสำนักงานที่เรียกว่า NEIS เก็บข้อมูลจากหลายล้านจุดทั่วโลกเพื่อประมวลภาพ 4-Dของสภาวะอากาศทั่วโลก
คุณ Alexander MacDonald ผู้อำนวยการสำนักงาน NOAA ชี้ว่าภาพถ่ายดาวเทียมของพายุลูกใหญ่ที่พัดเข้าจีนในเดือนตุลาคมปีพุทธศักราช 2553 อยู่บนจอด้านซ้ายมือ ส่วนบนจอด้านขวามือเป็นภาพพายุที่มีลักษณะคล้ายกันซึ่งระบบอมพิวเตอร์ออกแบบขึ้นมา
เขากล่าวว่าเทคโนโลยีนี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่ทางสำนักงานกำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้เพราะสามารถพยากรณ์สภาพอากาศได้เหมือนกับสภาวะที่เกิดขึ้นจริงสร้างความตื่นเต้นแก่ทางสำนักงานอย่างมาก
มลภาวะทางอากาศเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อบรรดาเมืองใหญ่และเขตอุตสาหกรรม ผลกระทบต่อสุขภาพจากมลภาวะทางอากาศทำให้การวัดคุณภาพอากาศที่แม่นยำมีความสำคัญ
ด้านคุณ Alan Taylor ผู้อำนวยการ Turnkey Instruments ที่มีฐานอยู่ในอังกฤษกล่าวว่าอุปกรณ์ของบริษัทที่เรียกว่า Topas ใช้แสงเลเซอร์เป็นตัววัดระดับมลภาวะในอากาศสามารถวัดมลภาวะทางอากาศได้อย่างแม่นยำเเต่เขาชี้ว่านั่นไม่ใช่การแก้ปัญหา
เขากล่าวว่าการแก้ปัญหาขึ้นอยู่กับทางการของเมืองนั้นๆ ว่าจะลุกขึ้นมาทำอะไรเมื่อได้รับข้อมูลเกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศ จะห้ามการจราจรผ่านเมืองหรือไม่หรือจะห้ามไม่ให้รถบรรทุกขับผ่านตัวเมืองหรือไม่ จะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหายังมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
แม้แต่ในเมืองต่างๆ ที่ไม่มีปัญหามลภาวะทางอากาศ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ามีความสำคัญมากที่ต้องวัดสิ่งปะปนในอากาศรวมทั้งละอองเรณูเกสรที่สร้างความทุกข์ทรมานแก่คนที่เป็นโรคภูมิแพ้
คุณ Svetlana Afonina หัวหน้าทีมวิจัยที่มหาวิทยาลัย University of Geneva กล่าวว่าทีมงานผลิตอุปกรณ์ตัวใหม่ที่ใช้วัดมลภาวะทางอากาศที่เรียกว่า Plair โดยใช้ตัววัดใยแก้วผสมผสานกับเทคโนโลยี
แสงอัลตร้าไวโอเล็ต
เธอกล่าวว่าอุปกรณ์ตัวใหม่นี้มีความเฉพาะเจาะจงสูงและสามารถวัดตัวสร้างมลภาวะประเภทต่างๆ ได้หลายชนิด อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถวัดประเภทของละอองเรณูเกสรได้หลายชนิดโดยสามารถแจ้งผลการวัดได้ทันทีขณะทำขณะวัด
งานนิทรรศการจัดแสดงเทคโนโลยีการพยากรณ์อากาศและการตรวจวัดคุณภาพอากาศทันสมัยล่าสุดที่จัดขึ้นในกรุงบรัสเซลส์ ดำเนินมาเป็นปีที่ 5 แล้วและงานหนล่าสุดมีคนจากทั่วโลกเข้าชมงานมากกว่า 2,500 คน