กรุงโซลผลิตขยะอิเลคทรอนิกส์หรือ E-Waste ออกมาปีละประมาณ 10 ตัน ซึ่งราว 1 ใน 5 ของจำนวนนี้มีปลายทางอยู่ที่ศูนย์รีไซเคิลสิ่งของใช้แล้ว ซึ่งมีอยู่หลายแห่งทั่วกรุงโซล ศูนย์ดังกล่าวจะแยกส่วนประกอบของขยะอิเลคทรอนิกส์ออกจากกัน โลหะบางอย่าง เช่น ทองคำ ทองแดง และสินแร่หายากจะถูกนำกลับไปใช้ใหม่ ถือเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลล่าร์ต่อปี
คุณ Ji Un-geun ผู้บริหารของศูนย์รีไซเคิล SR Center ในกรุงโซล ระบุว่าธุรกิจของตนนั้นมิได้มุ่งเน้นทำกำไรอย่างเดียว แต่ยังถือเป็นการปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วย เขาบอกว่า 90% ของขยะอิเลคทรอนิกส์ที่ถูกส่งมาที่ SR Center จะถูกนำไปรีไซเคิลเพื่อกลับไปใช้ใหม่
ขยะอิเลคทรอนิกส์ปริมาณมหาศาลไม่ใช่ปัญหาของประเทศพัฒนาแล้วอย่างเกาหลีใต้เท่านั้น แต่ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกก็กำลังเผชิญกับความท้าทายเรื่องนี้ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะสารพิษที่เป็นส่วนประกอบใน E-Waste เช่นสารตะกั่วและดีบุก ก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านสุขภาพต่อประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ
เมื่อ 5 ปีก่อน รัฐบาลกรุงโซลได้ร่วมมือกับบริษัท SR Center เพื่อเริ่มโครงการตามเก็บขยะอิเลคทรอนิกส์จากประชาชนทั้งในภาคครัวเรือนและธุรกิจ ซึ่งนอกจากเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมแล้วยังเป็นการปกป้องข้อมูลในอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ต่างๆ ไม่ให้รั่วไหล
คุณ Lee Tae-hong ประชาชนในกรุงโซล เชื่อว่าหากไม่มีกระบวนการรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ก็อาจกลายเป็นขยะอิเลคทรอนิกส์ในประเทศกำลังพัฒนา เช่นในจีน หรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีโอกาสที่ข้อมูลส่วนบุคคลหรือความลับที่อยู่ในอุปกรณ์เหล่านั้นอาจถูกขโมยไปได้
องค์กรสิ่งแวดล้อมบางแห่งชี้ว่า ผู้บริโภคเกาหลีใต้นิยมเป็นเจ้าของสินค้าอิเลคทรอนิกส์รุ่นใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา องค์กร Green Consumers Network คาดว่าปัจจุบันคนเกาหลีใต้เปลี่ยนโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ทุกๆ 1 ปีครึ่ง ซึ่งทำให้ปริมาณขยะอิเลคทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
คุณ Lee Joo-hong จากองค์กร Green Consumers Network ระบุว่าผู้บริโภคเปลี่ยนโทรศัพท์บ่อยเพราะบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์หรือเครือข่ายผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต พยายามลดราคาโทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ เพื่อจูงใจผู้ซื้อ และทางผู้ซื้อเองก็ไม่ต้องการถูกหาว่าล้าสมัย จึงเปลี่ยนอุปกรณ์รุ่นใหม่อยู่ตลอด
คุณ Ji Un-geun แห่งศูนย์รีไซเคิล SR Center เห็นด้วยว่าพฤติกรรมดังกล่าวของผู้บริโภคชาวเกาหลีใต้คือเหตุผลหลักที่ทำให้มีขยะอิเลคทรอนิกส์กองพะเนินเทินทึกตามสถานที่ทิ้งขยะต่างๆ และไม่ใช่ที่กรุงโซลเท่านั้น แต่เมืองใหญ่อื่นๆ ในเกาหลีใต้ต่างประสบปัญหาเดียวกันนี้ จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ควรมีศูนย์รีไซเคิลอยู่ตามเมืองต่างๆ ทุกเมือง
คุณ Ji สรุปส่งท้ายว่าในส่วนของผู้บริโภคเองก็สามารถช่วยแก้ปัญหาขยะอิเลคทรอนิกส์ล้นเมืองได้เช่นกัน นั่นคือการไม่เปลี่ยนโทรศัพท์บ่อยเกินไปตามสมัยนิยม อย่างโทรศัพท์เครื่องที่ใช้อยู่นั้น คุณ Ji บอกว่าตนใช้มานานถึง 10 ปีแล้ว
รายงานจาก Jason Strother ผู้สื่อข่าวประจำกรุงโซล เกาหลีใต้ / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล