องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO ยกย่อง สนธิสัญญามอนทรีออล (Montreal Protocol) แห่งปีคริสตศักราช 1987 ว่าเป็นความสำเร็จที่ยอดเยี่ยม โดย WMO เปิดเผยรายงานที่ถือว่าเป็นข่าวดีหลังจากรายงานผลการประเมินด้านภาวะโลกร้อนชิ้นก่อนหน้านี้ของ WMO ชี้ว่ามีระดับแก๊สเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศของโลกเพิ่มขึ้นไปอยู่ในจุดที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
คุณ Geir Braathen เจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์อาวุโสแห่ง WMO กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าเป็นครั้งแรกที่รายงานของ WMO พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของปริมาณโอโซนในชั้นโอโซนโดยรวมทั้งโลก แสดงว่าชั้นโอโซนของโลกกำลังเริ่มฟื้นตัว ชั้นโอโซนอยู่ห่างจากพื้นผิวโลกเป็นระยะทางราว 40 กิโลเมตรโดยอยู่ในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ (stratosphere)
คุณ Braathen กล่าวว่านี่เป็นสัญญาณว่าปริมาณแก๊สเรือนกระจกที่ส่งผลต่อระดับโอโซนกำลังลดลงมา ซึ่งทำให้ปริมาณโอโซนเพิ่มขึ้น ชั้นโอโซนเป็นชั้นบรรยากาศที่บอบบางมากและช่วยดูดซับแสงอัลตร้าไวโอเล็ตจากดวงอาทิตย์ ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและพืชบนโลก
โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติชี้ว่าสนธิสัญญามอนทรีออลช่วยฟื้นคืนชั้นโอโซนของโลก ซึ่งในทางอ้อมจะช่วยลดจำนวนคนป่วยด้วยโรคมะเร็งผิวหนังลง ช่วยลดอันตรายจากแสงอาทิตย์ต่อดวงตาและระบบภูมิต้านทานร่างกายของคนเรา ตลอดจนช่วยปกป้องสัตว์ป่าและการเกษตรด้วย
สนธิสัญญามอนทรีออลเรียกร้องให้มีการเลิกใช้สารเคมีที่ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ อาทิ สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (Chlorofluorocarbons) เเละ สารฮาลอน (halons) ที่เคยใช้ในตู้เย็น กระป๋องฉีดสเปรย์ โฟมกันความร้อนและสารดับเพลิง
รายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกชิ้นล่าสุดนี้พบว่าการเลิกใช้สารเคมีที่เป็นภัยต่อปริมาณโอโซนมีผลทางบวกในการช่วยลดภาวะโลกร้อนเนื่องจากสารเหล่านี้เป็นสารก่อภาวะเรือนกระจก
แต่คุณ Braathen ชี้ว่ามีการใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (hydrofluorocarbons) เป็นสารเคมีทดแทน เขาชี้ว่าแม้สารเคมีทดแทนนี้จะไม่ทำลายโอโซนแต่ก็เป็นสารก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกเช่นกันเพียงแต่มีผลให้เกิดภาวะเรือนกระจกในระดับต่ำกว่าสารเคมีดั้งเดิม นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมชั้นโอโซนจึงเริ่มฟื้นตัว เขาเชื่อว่าปริมาณโอโซนทั่วโลกน่าจะยังเพิ่มขึ้นต่อไปหากยังปฏิบัติตามสนธิสัญญามอนทรีออลกันอย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าผลเสียของสารเคมีทดแทนต่อภาวะโลกร้อนอาจจะรุนแรงขึ้นได้หากมีการใช้ในปริมาณมาก
คุณ Braathen กล่าวว่า มีปริมาณสารไฮโดร คลอโร ฟลูออโร คาร์บอน เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มมากขึ้นราว 7 เปอร์เซ็นต์ต่อปีซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นรวดเร็ว แม้ว่าในปัจจุบัน ยังไม่ส่งผลต่อภาวะอากาศโลกแต่หากยังคงเพิ่มขึ้นในอัตรานี้อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายสิบปีข้างหน้า สารทดแทนเหล่านี้จะส่งผลต่อภาวะโลกร้อนอย่างแน่นอน
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกยกย่องว่าความร่วมมือนานาชาติมีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จในการกอบกู้ชั้นบรรยากาศโอโซนและได้เร่งเร้าให้มีความร่วมมือแบบเดียวกันนี้เพื่อหาทางรับมือกับปัญหาที่ท้าทายมากขึ้นจากภาวะโลกร้อน