ในระหว่างเดินทางพบผู้นำนานาประเทศในแถบแปซิฟิกตอนใต้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เวนดี เชอร์แมน นำพาคณะผู้แทนสหรัฐฯ เยือนหมู่เกาะโซโลมอน เพื่อร่วมพิธีรำลึกการครบรอบ 80 ปี ของ “การสู้รบแห่งกัวดัลคาแนล” (Battle of Guadalcanal) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการปะทะครั้งใหญ่ระหว่างกองทัพของฝ่ายพันธมิตรและกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น และได้รับการจดจำว่าเป็นจุดเริ่มต้นของชัยชนะของฝ่ายพันธมิตรที่ดำเนินต่อไปจนมีชัยเหนือญี่ปุ่นในที่สุด
การเดินทางไปยังภูมิภาคนี้ของคณะผู้แทนระดับสูงของสหรัฐฯ เกิดขึ้นขณะที่ กรุงวอชิงตันยังเดินหน้าหาทางคานอำนาจกรุงปักกิ่งที่บรรลุข้อตกลงด้านความมั่นคงกับหมู่เกาะโซโลมอนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยไม่มีใครทราบถึงเนื้อหารายละเอียดของข้อตกลงที่ว่านี้
SEE ALSO: จีนลงนามความมั่นคงกับหมู่เกาะโซโลมอน เตรียมสร้างฐานทัพเรือในแปซิฟิกและความพยายามที่จะคานอำนาจของจีน โดยเฉพาะในด้านการทหาร ยิ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด หลังกรุงปักกิ่งส่งกองทัพไปทำการซ้อมรบรอบ ๆ เกาะไต้หวัน เพื่อตอบโต้การเยือนกรุงไทเปของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แนนซี เพโลซี ที่ทำให้ผู้นำจีนไม่พอใจอย่างมาก และนำมาซึ่งการตัดสินใจระงับโครงการที่จะทำร่วมกับสหรัฐฯ หลายโครงการไปแล้ว
รมช.เชอร์แมน กล่าวระหว่างเข้าเยี่ยมอนุสรณ์สถานสนามรบ ของหมู่เกาะโซโลมอน ในวันอาทิตย์ว่า รัฐบาลกรุงโฮนีอารา ควรต้องเตรียมตัวรับมือกับพวกคลั่งอำนาจที่ชอบใช้ความรุนแรงให้ดี พร้อมระบุ “มีบางคนในโลกนี้” ที่ลืมไปแล้วว่า ต้นทุนของสงครามนั้นสูงเพียงใด หรืออาจกำลังทำตัวไม่สนใจที่จำจะบทเรียนจากอดีตอยู่ก็เป็นได้
รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐฯ ยังพูดถึง “ผู้นำที่เชื่อว่า การบีบบังคับ การใช้แรงกดดัน และความรุนแรง คือเครื่องมือที่ตนใช้ได้ และไม่ต้องกลัวการลงโทษใด ๆ” โดยไม่ได้กล่าวระบุชื่อผู้นำคนใดอย่างเฉพาะเจาะจง
นอกจากนั้น เชอร์แมน ยังเปรียบเทียบสถานการณ์ในปัจจุบันกับภาพของการต่อสู้กับพวกนาซีและจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1930-1940 และเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ร่วมกันสู้กับแรงต้านจากภายนอกได้แล้ว
ถึงกระนั้น ความเป็นจริงในเวลานี้คือ เมื่อมองดูประเด็นความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้แล้ว หมู่เกาะโซโลมอนถือเป็นประเทศเดียวที่สหรัฐฯ นั้นแทบไม่มีอิทธิพลอยู่เท่าใดเลย
มิไฮ โซรา นักวิจัยภายใต้โครงการ Pacific Islands Program จากสถาบัน Lowy Institute ในนครซิดนีย์ บอกกับผู้สื่อข่าว เอเอฟพี ว่า สำหรับสหรัฐฯ แล้ว การจะหาทางเจาะเข้าหมู่เกาะโซโลมอนนั้นเป็นเรื่องยากไม่น้อย เนื่องจาก “นายกรัฐมนตรีมานาสเซห์ โซกาวาเร ให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ของประเทศกับจีนอย่างมาก” และว่า “ความคิดที่ว่า เขา (นายกฯ โซกาวาเร” จะต้องเลือกระหว่างสหรัฐฯ และจีน เป็นความคิดที่(ผู้นำหมู่เกาะโซโลมอน)ไม่อยากนึกถึงเลย และคงอยากจะหาทางทำงานร่วมกับทั้งสหรัฐฯ และจีน”
อย่างไรก็ดี โซรา บอกว่า ไม่ใช่ทุกคนในหมู่เกาะโซโลมอนที่สนับสนุนแนวคิดการเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับจีน เพราะบางคนมองว่า ประเด็นนี้เป็นเหมือน “ดาบสองคม”
ทั้งนี้ หมู่เกาะโซโลมอน ตัดความสัมพันธ์กับไต้หวันเมื่อเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 2019 เพื่อเอาใจจีนแผ่นดินใหญ่ และนำมาซึ่งเม็ดเงินการลงทุนมากมาย
SEE ALSO: ออสเตรเลียส่งเจ้าหน้าที่ 100 นายช่วยรักษาความสงบในโซโลมอน ไอร์แลนด์แต่เมื่อเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้ว เกิดการประท้วงนายกฯ โซกาวาเร ซึ่งยกระดับจนกลายเป็นเหตุจลาจลในกรุงโฮนีอารา และการจุดไฟเผาทั่วย่านไชน่าทาวน์ จนกระทั่งรัฐบาลออสเตรเลียส่งคณะรักษาสันติภาพเข้ามาช่วยดูแลสถานการณ์จนทุกอย่างสงบลง
ขณะเดียวกัน นายกฯ โซกาวาเร ยังถูกฝ่ายค้านกล่าวหาว่า กำลังทำการบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยของประเทศ หลังผู้นำรัฐบาลรายนี้ประกาศความตั้งใจที่จะเลื่อนการจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่เดิมมีกำหนดในเดือนเมษายนของปีหน้า ไปเป็นหลังการจัดการแข่งขัน แปซิฟิก เกมส์ ซึ่งรัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤศจิกายนของปีหน้า
รายงานข่าวระบุว่า จีนเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านการเงินในการสร้างสนามกีฬาแห่งชาติใหม่ที่มีมูลค่าถึง 53 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้สำหรับการเป็นเจ้าภาพรายการแข่งขันนี้
นอกจากเรื่องการเมืองแล้ว ผู้นำหมู่เกาะโซโลมอนยังเริ่มทำการที่ถูกมองว่า เป็นการพุ่งเป้าไปยังเสรีภาพสื่อ หลังออกมาโจมตีสถานีโทรทัศน์สาธารณะของประเทศ Solomon Islands Broadcasting Corporation ด้วยการกล่าวหาว่า สื่อแห่งนี้เผยแพร่แต่ “คำโกหกและข้อมูลเท็จ” และละเลย “การหน้าที่ สื่อมวลชนที่มีจริยธรรม ความรับผิดชอบ และความเป็นธรรม”
สหพันธ์สื่อมวลชนนานาชาติ (International Federation of Journalists) ออกมาเตือนรัฐบาลนายกฯ โซกาวาเร ให้อย่าทำการใด ๆ ที่จะเป็น “การโจมตีเสรีภาพสื่อ และพัฒนาการที่ยอมรับไม่ได้ (ที่จะกระทบ) กระบวนการการเมืองในระบอบประชาธิปไตย” ด้วย
สำหรับประเด็นนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เวนดี เชอร์แมน กล่าวว่า “ถึงเวลาแล้วที่ ต้องมีการตัดสินใจว่า เราต้องการที่จะอยู่ในสังคมที่ผู้คนมีเสรีภาพที่จะพูดสิ่งที่อยู่ในใจออกมาหรือไม่” และ “เราต้องการรัฐบาลที่โปร่งใสและมีความรับผิดและรับชอบต่อประชาชนของตนหรือไม่”
และนอกเหนือจากคำเตือนแล้ว รมช.เชอร์แมน ยังระบุว่า กรุงวอชิงตันต้องการจะยกระดับความร่วมมือกับหมู่เกาะต่าง ๆ ในแปซิฟิก “ที่มีความสำคัญอย่างที่สุด” ด้วย ซึ่งดูได้จากการประกาศเปิดสถานทูตในตองกา คิริบาตี และหมู่เกาะโซโลมอน และการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีแผนที่จะเชิญผู้นำประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกมาร่วมประชุมสุดยอดที่ทำเนียบขาวในเดือนกันยายนนี้
- ที่มา: วีโอเอ