ส.ส.แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางถึงกรุงไทเป ไต้หวัน ในวันอังคาร ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัฐบาลกรุงวอชิงตันกับปักกิ่ง
แหล่งข่าวใกล้ชิด ส.ส.เพโลซี เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า ผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐฯ จะพบหารือกับประธานาธิบดีไต้หวัน ไช่ อิง-เหวิน ในวันพุธนี้ นอกจากนั้นยังมีกำหนดพบปะกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวของไต้หวันผู้วิจารณ์จีนอย่างรุนแรงเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย
ก่อนหน้าการเยือนไต้หวัน ส.ส.เพโลซี ได้เดินทางเยือนสิงคโปร์และมาเลเซียในวันจันทร์และวันอังคาร และต่อจากไต้หวันจะเดินทางต่อไปยังเกาหลีใต้และญี่ปุ่นด้วย
เมื่อคืนวันอังคารตามเวลาไต้หวัน อาคาร ไทเป 101 ซึ่งเป็นตึกสูงที่สุดของไต้หวัน ฉายข้อความ "ยินดีต้อนรับสู่ไต้หวัน" "ประธานสภาฯ ส.ส.เพโลซี" "Taiwan (heart) USA"
ส.ส.เพโลซี ถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่สุดของสหรัฐฯ ที่เดินทางไปเกาะไต้หวันนับตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1997 ที่อดีตประธานสภาล่าง นิวท์ กิงกริช นำคณะสมาชิกสภาคองเกรสไปกรุงไทเป
หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อมวลชนต่างคาดการณ์ว่า ในที่สุดแล้ว ส.ส.เพโลซี จะเดินทางเยือนไต้หวันหรือไม่ ท่ามกลางคำขู่จากรัฐบาลจีน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ก่อนหน้านี้ผู้นำจีนได้ส่งคำเตือนอย่างต่อเนื่องไปยังสหรัฐฯ เพื่อให้ ส.ส.เพโลซี หลีกเลี่ยงการเยือนไต้หวันซึ่งจีนกล่าวอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีน
ในวันอังคาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน หวัง อี้ กล่าวว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กำลัง "เล่นกับไฟ" ในประเด็นที่เกี่ยวกับไต้หวัน และ "ตอนจบอาจไม่ดีนัก"
เมื่อวันจันทร์ สหรัฐฯ กล่าวว่าจะไม่เกรงกลัวต่อ "เสียงเคาะดาบ" ของจีน
การเคลื่อนไหวทางทหารของจีนก่อนเพโลซีเยือนไต้หวัน
ก่อนที่ส.ส.เพโลซี จะเดินทางมาถึง กองทัพจีนส่งเครื่องบินไอพ่นไปบินวนเหนือช่องแคบไต้หวันซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตแดนอย่างไม่เป็นทางการระหว่างไต้หวันกับจีน รวมทั้งมีเรือรบจีนหลายลำที่แล่นผ่านบริเวณดังกล่าว ตามรายงานของรอยเตอร์
แหล่งข่าวระบุว่า เรือรบจีนได้ใช้วิธีแล่นติดกับเส้นแบ่งพรมแดนกลางช่องแคบไต้หวันหลายครั้ง ซึ่งเป็นลักษณะที่ "ผิดปกติ" และถือเป็นการ "ยั่วยุอย่างยิ่ง" ขณะที่เครื่องบินรบของไต้หวันเตรียมพร้อมเต็มที่ในกรณีฉุกเฉิน ก่อนที่เรือรบจีนจะออกไปจากบริเวณนั้นในช่วงบ่ายวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น
ขณะเดียวกัน เรือรบของสหรัฐฯ 4 ลำ รวมถึงเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Ronald Reagan เข้าประจำการในน่านน้ำฝั่งตะวันออกของไต้หวัน ซึ่งทางกองทัพเรือสหรัฐฯ ระบุว่าเป็น "การประจำการตามปกติ"
ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว จีนได้ทำการซ้อมรบในแถบทะเลจีนใต้ ทะเลเหลือง และทะเลโป๋ไห่ หลายครั้ง เพื่อแสดงแสนยานุภาพทางทะเลของกองทัพจีน ก่อนการเยือนไต้หวันของ ส.ส.เพโลซี ซึ่งทางการจีนมองว่าเป็นการส่งสัญญาณว่าสหรัฐฯ สนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระของไต้หวัน
นับตั้งแต่มีข่าวว่า ส.ส.เพโลซี มีแผนจะเยือนไต้หวัน รัฐบาลจีนออกมาเตือนอย่างต่อเนื่องว่า การเดินหน้าแผนการเดินทางนี้เป็นการละเมิดสิ่งที่ปักกิ่งมองว่าเป็นอธิปไตยของตนเหนือเกาะแห่งนี้ "ที่ยอมรับไม่ได้"
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน จ้าว ลี่เจียน กล่าวในวันจันทร์ว่า หาก ส.ส.เพโลซี เยือนไต้หวัน จะถือเป็น "การแทรกแซงกิจการภายในของจีนครั้งใหญ่" พร้อมเตือนว่าจะนำไปสู่ "ผลกระทบร้ายแรงตามมาอย่างต่อเนื่อง"
"เราต้องการเตือนไปยังสหรัฐฯ อีกครั้งว่า จีนกำลังจับตามอง กองทัพจีนจะไม่อยู่นิ่งเฉย และจีนจะใช้มาตรการตอบโต้อย่างเข้มแข็งเพื่อปกป้องอธิปไตยและดินแดนในการปกครองของจีน" โฆษกจ้าวระบุ
และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามาตรการอะไรที่จีนจะนำมาใช้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวว่า "หากเธอ (ส.ส.เพโลซี) กล้าไปจริง ๆ เราจะได้เห็นกัน"
การสนับสนุนที่ชัดเจนขึ้นของสหรัฐฯ
การปรากฏตัวของ ส.ส.เพโลซี ในไต้หวัน สร้างความกังวลต่อจีนเป็นอย่างมาก ในทัศนะของอแมนดา เซียว นักวิเคราะห์อาวุโสประจำไต้หวัน จาก International Crisis Group สถาบันคลังสมองด้านวิกฤตการณ์ระดับโลก ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า “เราได้เห็นข้อความที่ชัดเจนจากรัฐบาลปักกิ่งที่ต้องการตอบโต้อย่างรุนแรงหากการเดินทางเยือนไต้หวัน (ของ ส.ส. เพโลซี) เกิดขึ้นจริง และคิดว่าสัญญาณต่าง ๆ เหล่านั้นควรได้รับความใส่ใจอย่างยิ่งยวด”
นักวิเคราะห์อาวุโส แห่ง International Crisis Group คาดว่าจะมีกิจกรรมทางการทหารของจีนรอบ ๆ ไต้หวัน “ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” ทั้งในช่วงระหว่างและหลังจากการเยือนไต้หวันของประธานสภาล่างสหรัฐฯ โดยที่ผ่านมา จีนได้ส่งเครื่องบินรบจำนวนมากเข้าไปยังบริเวณเขตระบุแจ้งเพื่อการป้องกันตนเองทางอากาศ (Taiwan’s Air Defense Identification Zone) ของไต้หวันในช่วงไม่กี่เดือนมานี้
ส.ส. เพโลซี ถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่สุดของสหรัฐฯ ที่เดินทางไปเกาะไต้หวันนับตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1997 ที่อดีตประธานสภาล่าง นิวท์ กิงกริช นำคณะสมาชิกสภาคองเกรสไปกรุงไทเป
นิวท์ กิงกริช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอภาคภาษาจีนกลาง แสดงการสนับสนุนภารกิจเยือนไต้หวันของส.ส.เพโลซี และว่าการเยือนไต้หวันของประธานสภาล่างสหรัฐฯ จะสร้าง “ความระคายเคือง” ให้กับความสัมพันธ์สหรัฐฯ และจีน “ในระดับหนึ่ง”
บทบาทของจีนที่แข็งแกร่งและก้าวร้าวขึ้น
แต่ในมุมมองนักวิเคราะห์หลายราย ได้เตือนว่า จีนมีความแข็งแกร่งและก้าวร้าวขึ้นนับตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1990 เมื่อเทียบกับยุคที่อดีตประธานสภาล่างกิงกริชไปเยือนกรุงไทเปในตอนนั้นมาก
เซียว นักวิเคราะห์อาวุโส แห่ง International Crisis Group ระบุว่า จีนที่เรากำลังรับมืออยู่ในตอนนี้ ภายใต้การนำของ (ประธานาธิบดี) สี จิ้นผิง มีความมุ่งมั่น ทะเยอทะยาน และน่ากังวลมากกว่าในอดีต
อีกปัจจัยหนึ่ง คือ การประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ประธานาธิบดีสีเตรียมรักษาตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สาม ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าการประชุมใหญ่ดังกล่าวจะกระทบต่อท่าทีของจีนต่อไต้หวันอย่างไร
ในทัศนะของเซียว เห็นว่า ในที่ประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน อาจต้องการรักษาเสถียรภาพในประเด็นภายนอกในช่วงการเปลี่ยนผ่านสำคัญนี้ แต่อีกด้านหนึ่ง เพราะการเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงก่อนการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 บทบาทผู้นำของสี จิ้นผิง จึงถูกกดดันให้แสดงบทบาทว่าจีนนั้นจะไม่มีทางถูกเอาเปรียบได้
มุมมองของวิลเลียม หยาง ประธานสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งไต้หวัน ให้ทัศนะกับวีโอเอด้วยว่า สำหรับไต้หวันแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกโล่งใจที่ประธานสภาล่างสหรัฐฯ เดินหน้าตามแผนเยือนไต้หวัน ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นการแสดงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการรักษาความสงบสุขบริเวณช่องแคบไต้หวัน แต่อีกด้านหนึ่ง มีชาวไต้หวันจำนวนหนึ่งที่ยังกังขาเกี่ยวกับแรงจูงใจ เป้าหมาย และผลกระทบที่ตามมาจากการเยือนไต้หวันของ ส.ส. เพโลซีในครั้งนี้ ชาวไต้หวันจำนวนมากยังคงตั้งคำถามว่าประเด็นนี้จะเร่งให้เกิดความขุ่นเคืองกับจีน และกดดันให้จีนใช้มาตรการที่ไร้เหตุผลกับไต้หวัน โดยเฉพาะในช่วงที่รัสเซียรุกรานยูเครน
- ที่มา: วีโอเอ และรอยเตอร์