เกาหลีใต้และสหรัฐฯ เดินหน้าแก้ไขปรับปรุงข้อตกลงด้านความร่วมมือด้านความมั่นคงในระดับทวิภาคีที่มุ่งหวังป้องปรามภัยคุกคามจากขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ที่เกาหลีเหนือเดินหน้าพัฒนาอยู่ พร้อมให้คำมั่นว่าจะเดินหน้ากดดันกรุงเปียงยางต่อไป ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์วุ่นวายมากมายทั่วโลกอยู่นี้ ตามรายงานของรอยเตอร์
ชิน วอน-ซิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเกาหลีใต้และ ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ร่วมลงนามในข้อตกลง Tailored Deterrence Strategy (TDS) ในระหว่างการหารือประเด็นความมั่นคงที่กรุงโซล
การปรับปรุงแก้ไขข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นขั้นตอนสำคัญ เนื่องจากยุทธศาสตร์ที่ใช้งานกันอยู่ไม่ได้ตอบโจทย์ความกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการของโครงการอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือที่เดินหน้าอย่างรวดเร็วอยู่ ตามแถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้
ทั้งนี้ เกาหลีใต้ไม่เปิดเผยอย่างเฉพาะเจาะจงว่า มีการปรับปรุงส่วนใดของข้อตกลงดังกล่าวซึ่งมีเนื้อหาที่ระบุว่าสหรัฐฯ จะใช้สินทรัพย์ทางทหารเชิงกลยุทธ์ซึ่งรวมถึงกองกำลังนิวเคลียร์ของตนเพื่อช่วยปกป้องพันธมิตร
ข้อตกลงดังกล่าวมีการจัดทำขึ้นในปี 2010 และค่อย ๆ มีบทบาทสำคัญมากขึ้น ในขณะที่เกาหลีเหนือเดินหน้าพัฒนานิวเคลียร์และขีปนาวุธแบบร่อนของตนอย่างต่อเนื่อง
รัฐมนตรีกลาโหมของสองประเทศยังกล่าวด้วยว่า ทั้งคู่ตกลงจะเพิ่มการซ้อมรบร่วมกัน รวมทั้งทำความร่วมมือกับญี่ปุ่นเพื่อป้องปรามและเตรียมตัวทุกฝ่ายให้พร้อมมากขึ้นในกรณีที่เกาหลีเหนือทำการโจมตี
SEE ALSO: สหรัฐฯ ส่งบี-52 บินเหนือคาบสมุทรเกาหลี ตอบโต้โสมแดงยิงขีปนาวุธ
รมต.ออสตินกล่าวว่า การที่เรือดำน้ำติดหัวรบขีปนาวุธพลังนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ และเครื่องบินทิ้งระเบิดบี-52 แวะมาเยือนเกาหลีใต้เมื่อไม่นานมานี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในความพยายามป้องปรามต่าง ๆ และชี้ว่า อาจมีการส่งสินทรัพย์ต่าง ๆ ของสหรัฐฯ แวะเวียนมายังบริเวณภูมิภาคนี้บ่อยขึ้น แม้ว่าจะเกิดวิกฤติมากมายทั่วโลกในเวลานี้ก็ตาม
ในปีนี้ เกาหลีใต้และสหรัฐฯ ได้ยกระดับความร่วมมือและการหารือการวางแผนด้านนิวเคลียร์มากขึ้น เพื่อที่จะมีการประสานงานให้ใกล้ชิดกว่าเดิมในประเด็นการรับมือกับภัยนิวเคลียร์ หากเกิดสงครามขึ้น
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านความสามารถและความตั้งใจของเกาหลีเหนือและจีนเมื่อเร็ว ๆ นี้หมายถึง การเพิ่มขึ้นอย่างมากของความเสี่ยงที่ว่า ความสามารถในการป้องปรามของทั้งสหรัฐฯ และเกาหลีใต้อาจจะประสบความล้มเหลวในทศวรรษหน้าและพันธมิตรทั้งสองจะต้องดำเนินการขั้นต่อไปที่มีนัยยะสำคัญมากขึ้นเพื่อเสริมสร้างความสามารถดังกล่าว ตามการศึกษาโดยองค์กรคลังสมอง Atlantic Council ที่เปิดเผยออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
การศึกษาชิ้นดังกล่าวซึ่งรวบรวมความเห็นมาจากผู้เชี่ยวชาญกว่า 100 คน พบว่า แม้ว่าโอกาสของการโจมตีด้วยนิวเคลียร์เต็มพิกัดนั้นแทบไม่มีเลย กรุงเปียงยางอาจมีความฮึกเหิมมากพอที่จะยกระดับการดำเนินการทางทหารแบบจำกัดของตน ซึ่งรวมถึงการใช้นิวเคลียร์โจมตีก็เป็นได้
- ที่มา: รอยเตอร์