นักวิจัยเริ่มใช้โดรนใต้น้ำเพื่อวัดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในมหาสมุทร โดยเชื่อกันว่า นี่เป็นครั้งแรกที่มีการใช้ยานพาหนะดังกล่าวในภารกิจนี้โดยเฉพาะ
ยานพาหนะซึ่งทีมงานเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Glider หรือเครื่องร่อน ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้สามารถดำน้ำได้ลึกถึง 1,000 เมตรในเขตน้ำลึกในมหาสมุทรและสามารถปฏิบัติภารกิจได้ครั้งละหลาย ๆ สัปดาห์
เป้าหมายของการศึกษาวิจัยครั้งนี้ก็คือ การให้ข้อมูลแก่นักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีต่อเคมีในมหาสมุทร โดยโดรนที่สามารถเดินทางในน้ำได้เองนี้ถูกปล่อยลงในอ่าวอลาสกาเมื่อฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา และผู้สื่อข่าวจากเอพีได้ร่วมลงเรือไปกับนักวิจัยที่ Resurrection Bay ในอลาสกาเพื่อร่วมสังเกตการณ์การทำงานของตัวโดรนด้วย
ทีมนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า โครงการนี้อาจเป็นก้าวสำคัญในการประเมินสุขภาพสิ่งแวดล้อมของมหาสมุทร โดยพวกเขาให้ความสนใจกับระดับกรดในมหาสมุทรมากที่สุด
ภาวะความเป็นกรดนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศแทรกตัวลงไปในมหาสมุทร ซึ่งเป็นภาวะที่อาจทำร้ายหรือฆ่าสัตว์ทะเลบางชนิดได้
อย่างที่ทราบกันดี นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์
ทั้งนี้ มหาสมุทรได้ช่วยเหลือมวลมนุษย์ด้วยการรับคาร์บอนไดออกไซด์บางส่วนไป ไม่เช่นนั้น ก็จะมีก๊าซนี้ในชั้นบรรยากาศมากกว่าที่เป็นอยู่ และจะทำให้โลกร้อนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวดักจับความร้อนจากดวงอาทิตย์
คลอดีน ฮอริ (Claudine Hauri) นักสมุทรศาสตร์ที่ศูนย์วิจัย International Arctic Research Center แห่งมหาวิทยาลัย Alaska Fairbanks กล่าวว่า ปัญหาในตอนนี้ก็คือ การที่มหาสมุทรกำลังเปลี่ยนแปลงเคมีของมันเอง เนื่องจากการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์
ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการวัดความเป็นกรดของมหาสมุทร ก็คือ การรวบรวมการตรวจวัดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำจากเรือหรืออุปกรณ์ลอยน้ำที่พื้นผิวมหาสมุทรหรืออุปกรณ์บนพื้นมหาสมุทร
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ฮอริ ซึ่งทำงานในโครงการนี้ร่วมกับแอนดริว แมคดอนเนล (Andrew McDonnell) นักสมุทรศาสตร์แห่ง College of Fisheries and Ocean Sciences at the university ซึ่งเป็นสามีของเธอ รวมทั้ง ทีมกับวิศวกรจากบริษัท Cyprus Subsea Consulting and Services ซึ่งเป็นผู้จัดหาโดรน และบริษัทสัญชาติเยอรมัน 4H-Jena เป็นผู้จัดหาเครื่องตรวจวัดระดับคาร์บอนไดออกไซด์
ทั้งนี้ ทีมงานได้นำโดรนไปปล่อยลงไปใน Resurrection Bay จากชุมชนชายฝั่ง Seward โดยจะทำซ้ำไปซ้ำมา แต่ปล่อยให้ไกลออกไปเรื่อย ๆ เพื่อทำการทดสอบ
นักวิจัย เปิดเผยว่า ตัวเซ็นเซอร์ของโดรนจะเป็นเหมือนห้องปฏิบัติการทดลองที่มีขนาดเล็กมาก ซึ่งจะทำการตรวจสอบและเก็บข้อมูลก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในระบบควบคุมอุณหภูมิ
ริชาร์ด ฟีลี่ (Richard Feely) นักวิทยาศาสตร์แห่ง National Oceanic and Atmospheric Administration หรือ NOAA ซึ่งประจำการอยู่ที่ห้องปฏิบัติการทดลอง Pacific Marine Environmental Laboratory ในซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการนี้ คือการทำให้การตรวจวัดระดับที่เก็บรวบรวมด้วยโดรนนั้นมีความถูกต้องแม่นยำเท่ากับที่ดำเนินการบนเรือ
นอกจากนี้ นักวิจัยในแคนาดายังได้ทดสอบอุปกรณ์วัดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีขนาดเล็กกว่าซึ่งติดอยู่กับโดรน แต่เซ็นเซอร์นั้นยังไม่สามารถปฏิบัติภารกิจให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างที่มีประสิทธิภาพในการสังเกตการณ์ภาวะความเป็นกรดในมหาสมุทร
แมคดอนเนล กล่าวทิ้งท้ายว่า เป้าหมายของเขาคือการมีหุ่นยนต์เครื่องร่อนในลักษณะเดียวกันนี้จำนวนมากในมหาสมุทรทั่วโลกในอนาคต และว่า ความพยายามดังกล่าวจะมีความสำคัญในการช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในมหาสมุทรได้มากขึ้น
- ที่มา: วีโอเอ