องค์การสหประชาชาติออกมาเรียกร้องให้รัสเซียยุติการรุกรานยูเครนที่ดำเนินมาจนถึงเดือนที่ 4 นี้ได้แล้ว เพื่อช่วยหยุดยั้งวิกฤตด้านอาหาร พลังงานและการเงินที่ขยายวงไปทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้คนหลายสิบล้านคนต้องตกอยู่ในสภาพอดอยากหิวโหยและยากจนข้นแค้นในปีนี้
อันโตนิโอ กูเทอเรซ เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) บอกกับผู้สื่อข่าวในวันพุธว่า “การเสียชีวิตและการทำลายล้างต้องยุติลงได้แล้ว” และว่า “ต้องมีการหาทางออกทางการเมืองที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติด้วย”
แต่ก่อนที่วันนั้นจะมาถึง เลขาธิการใหญ่ยูเอ็นระบุว่า ต้องมีการลงมือทำการบางอย่างทันทีในการสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดอาหารและพลังงานโลก เพื่อช่วยชะลอการปรับขึ้นของราคา ขณะที่ ต้องมีการจัดแบ่งทรัพยากรให้เพียงพอเพื่อช่วยประเทศและชุมชนที่มีสภาพยากจนที่สุดในโลกรับมือกับแรงกระเพื่อมจากวิกฤตต่าง ๆ นี้
รายงานข่าวระบุว่า กูเทอเรซ มีบทบาทในฐานะเบื้องหลังการผลักดันให้มีการทำข้อตกลงที่จะเปิดทางให้ยูเครนทำการส่งออกอาหารของตนผ่านเส้นทางทะเลดำได้อย่างปลอดภัย และให้รัสเซียสามารถส่งออกอาหารและปุ๋ยไปยังตลาดโลกโดยไม่ติดขัดมาตลอดช่วงที่ผ่านมา
เลขาธิการใหญ่ยูเอ็นกล่าวด้วยว่า ข้อตกลงที่ว่านั้นมีความสำคัญยิ่งสำหรับผู้คนนับร้อยล้านคนในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ซึ่งรวมถึงประเทศในแถบบริเวณใต้ทะเลทรายสะฮาราของทวีปแอฟริกา โดยไม่ยอมเปิดเผยว่า ทีมงานของยูเอ็นใกล้จะบรรลุข้อตกลงดังกล่าวแล้วหรือยัง เนื่องจากไม่ต้องการทำให้เสียกระบวนในการเจรจารายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้
นอกเหนือจากการเจรจาข้อตกลงที่ว่านี้ เลขาธิการใหญ่ กูเทอเรซ เป็นผู้เร่งก่อตั้งกลุ่มรับมือวิกฤตโลก หรือ Global Crisis Response Group เพื่อช่วยจัดการกับผลกระทบที่น่าจะมาจากการหยุดชะงักของการขนส่งสินค้าในทะเลดำ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในแหล่งอาหารจำพวกธัญพืชที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อันเนื่องมาจากภาวะสงครามในยูเครน
รีเบกา กรีนสแปน หัวหน้าฝ่ายการค้าและการพัฒนาของยูเอ็น และผู้ประสานงานของกลุ่มนี้ เตือนว่า วิกฤตอาหารในปัจจุบันอาจยกระดับขึ้นมาเป็นความหายนะด้านอาหารระดับโลกได้ภายในปีหน้านี้แล้ว โดยระบุว่า “ต้นทุนด้านพลังงานที่ปรับสูงขึ้นและข้อจำกัดด้านการค้าต่อการขนส่งปุ๋ยผ่านภูมิภาคทะเลดำได้ส่งผลให้ราคาปุ๋ยพุ่งขึ้นเร็วกว่าราคาอาหารแล้ว”
กรีนสแปน กล่าวด้วยว่า หากภาวะสงครามในยูเครนยืดเยื้อต่อไป ราคาสินค้าจำพวกธัญพืชและปุ๋ยก็จะปรับขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงฤดูการเพาะปลูกในปีหน้า ซึ่งอาจหมายถึงผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์เกษตร เช่น ข้าว ที่เป็นแหล่งอาหารของคนนับพันล้านทั่วโลกได้
Global Crisis Response Group เปิดเผยว่า ผู้คนจำนวนราว 1,600 ล้านคนในเกือบ 100 ประเทศกำลังประสบกับภาวะวิกฤตด้านใดด้านหนึ่งที่เกี่ยวกับอาหาร พลังงาน และการเงินอยู่ในเวลานี้ ขณะที่ราว 3 ใน 4 นั้นอาศัยอยู่ในประเทศที่มีความเปราะบางต่อทั้ง 3 ปัจจัยอย่างมาก
ขณะเดียวกัน กลไกรับมือสำหรับปัญหาต่าง ๆ ที่ว่ามานั้นอยู่ในสภาวะถูกจำกัดทั้งในระดับประเทศและระดับครัวเรือน โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization – ILO) เปิดเผยว่า การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลให้แรงงานราว 60% ต้องตกอยู่ในสภาพที่มีรายได้ที่แท้จริง (real income) ลดลงไปเรียบร้อยแล้ว
รีเบกา กรีนสแปน หัวหน้าฝ่ายการค้าและการพัฒนาของยูเอ็น กล่าวย้ำว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ การที่คนทั่วไปกำลังเขยิบเข้าใกล้ภาวะวิกฤตค่าครองชีพระดับโลกที่มีความรุนแรงที่สุดแห่งยุคปัจจุบันแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศที่มีหนี้สินมากมายหลายแห่งก็กำลังอยู่ในภาวะหนี้ล้นตัว หรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะดังกล่าว ซึ่ง กรีนสแปน ระบุว่า เป็นความเสี่ยงครั้งใหญ่ที่มีโอกาสเกิดขึ้นจริงมากกว่าเมื่อครั้งที่การระบาดของโควิด-19 รุนแรงถึงขั้นจุดสูงสุดด้วยซ้ำ พร้อมขอให้ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศเร่งส่งความช่วยเหลือด้านการเงินออกมาโดยด่วน มิฉะนั้น “ประเทศเหล่านี้จะมีปัญหาในการหาเงินมาชำระการนำเข้าอาหารและพลังงาน รวมทั้ง ทำการชำระหนี้ของตน และเพิ่มการใช้จ่ายสำหรับงานด้านสังคมต่าง ๆ ด้วย”
และในช่วงที่ปัญหาการพุ่งขึ้นของต้นทุนพลังงานกระทบหลายประเทศอยู่นี้ กรีนสแปน แนะนำให้รัฐบาลทั้งหลายนำเงินทุนสำรองและคลังสำรองสินค้าจำเป็นต่าง ๆ ออกมาใช้เพื่อลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ไปก่อน พร้อมย้ำว่า “นี่คือวิกฤตโลก ที่ไม่มีใครสามารถหลบหลีกได้เลย”
-
ที่มา: วีโอเอ