ราคาน้ำมันปรุงอาหารทุกประเภทขยับตัวพุ่งขึ้นมาตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ด้วยหลายสาเหตุ แต่สงครามในยูเครนที่เกิดจากการรุกรานของกองทัพรัสเซียกลายมาเป็นปัจจัยล่าสุดที่ทำให้สถานการณ์ดูเลวร้ายรุนแรงขึ้น ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี
ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันปรุงอาหารในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะภาวะการเก็บเกี่ยวที่ย่ำแย่ในอเมริกาใต้ การขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเนื่องจากการระบาดเป็นวงกว้างของโคโรนาไวรัส รวมทั้งความต้องการน้ำมันพืชที่เพิ่มสูงจากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ
แต่ล่าสุด ภาวะสงครามในยูเครนซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดอกทานตะวันเกือบครึ่งหนึ่งที่ผลิตได้จากทั่วโลก และการเดินเกมรบจากฝั่งรัสเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันประเภทนี้สัดส่วนถึง 25% ของอุปทานที่จำหน่ายในตลาดโลก ทำให้การขนส่งผลิตภัณฑ์นี้ต้องมีเหตุชะงักจนดันราคาน้ำมันปรุงอาหารพุ่งสูงยิ่งขึ้นไปอีกแล้ว
ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า สถานการณ์ความขัดแย้งในยุโรปตะวันออกครั้งนี้คือ ข่าวร้ายที่ทำให้ต้นทุนของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจซึ่งปรับขึ้นไปแล้วเพราะอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นหนัก ทั้งยังกระทบกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่า ยากจนที่สุดในโลก ในระดับที่หนักกว่าคนอื่นๆ ด้วย
ภายใต้เงื่อนไขของโลกในช่วงนี้ ประเด็นอุปทานอาหารคือ ส่วนที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ เพราะสงครามในยุโรปตะวันออกทำให้การขนส่งธัญพืชจากยูเครนและรัสเซียต้องหยุดชะงัก และการขนส่งปุ๋ยในตลาดโลกมีปัญหา ซึ่งหมายถึง ภาวะที่ราคาอาหารพุ่งขึ้นขณะที่ปริมาณกลับลดลง
การเกิดภาวะอุปทานหดหายในกลุ่มอาหารที่มีราคาไม่แพง เช่น ข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์ รวมทั้งเมล็ดธัญพืชอื่นๆ ยังทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ขาดแคลนอาหารและการสั่นคลอนของเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศแถบตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชีย ที่ซึ่งชีวิตของผู้คนนับล้านต้องพึ่งพาขนมปังหรือเส้นก๋วยเตี๋ยวต่างๆ ที่รัฐควักเงินอุดหนุนเพื่อให้ราคาขายอยู่ในระดับต่ำ
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันพืชพุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก่อนจะปรับขึ้นอีก 23% ในเดือนมีนาคม ขณะที่ ข้อมูลจากธนาคารโลกชี้ว่า ราคาน้ำมันถั่วเหลืองซึ่งเคยอยู่ที่ระดับ 765 ดอลลาร์ต่อตันเมื่อปี ค.ศ. 2019 มาอยู่ที่เฉลี่ย 1,957 ดอลลาร์ต่อตันในเดือนมีนาคมเรียบร้อยแล้ว
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลว่า ผู้บริโภคจะทำการกักตุนน้ำมัน จนซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งในตุรกีออกนโยบายจำกัดปริมาณน้ำมันพืชที่แต่ละครัวเรือนมีสิทธิ์ซื้อ เช่นเดียวกับที่ สเปน อิตาลี และสหราชอาณาจักร
ยาวาร์ ข่าน ซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารอินเดียในกรุงลอนดอน เปิดเผยว่า เมื่อไม่กี่เดือนก่อน น้ำมันปรุงอาหารเคยขายในราคา 22 ปอนด์ ต่อถังขนาด 20 ลิตร แต่ในเวลานี้ ราคาได้ปรับขึ้นมาเป็น 38 ปอนด์แล้ว
ถึงกระนั้น ข่าน ยังยืนยันว่า จะยังไม่ปรับขึ้นราคาขายในร้าน แม้ว่า ต้นทุนอื่นๆ เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องเทศ และค่าแรงจะพุ่งขึ้นไปด้วยเช่นกัน เพราะลูกค้าไม่น่าจะรับได้
นอกจากผู้ประกอบการรายย่อยแล้ว ธุรกิจขนาดใหญ่ก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นกัน
บริษัท ยูนิลีเวอร์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้ทำสัญญาซื้อส่วนประกอบสำคัญๆ เช่น น้ำมันปาล์ม ล่วงหน้าไว้ถึงกลางปีนี้แล้ว แต่เตือนนักลงทุนของตนด้วยว่า ต้นทุนของบริษัทมีสิทธิ์จะพุ่งสูงได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ส่วน บริษัท คาร์กิลล์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารรายยักษ์ใหญ่ของโลก และมีสายการผลิตน้ำมันพืชด้วย กล่าวว่า ในเวลานี้ ลูกค้าของบริษัทเริ่มทดลองสูตรอาหารใหม่ๆ ด้วยการผสมหรือเปลี่ยนประเภทของน้ำมันกันอย่างมากมาย ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องมีการคอยจับตาดู เพราะน้ำมันแต่ละประเภทมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน เช่น จุดเดือด และความเข้มข้น ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของอาหารได้
โจเซฟ กลอเบอร์ นักวิจัยอาวุโสจากสถาบัน International Food Policy Research Institute ประเมินว่า ราคาน้ำมันน่าจะเริ่มปรับลงมาบ้างในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้ ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องสภาพอากาศเลวร้ายเกิดขึ้น ดังกรณี ภาวะแล้งที่ทำให้ผลผลิตคาโนลาในแคนาดาและผลผลิตถั่วเหลืองในบราซิลหดหายหนัก หรือภาวะฝนตกหนักจนทำให้การผลิตน้ำมันปาล์มในมาเลเซียเสียหายเมื่อปีที่แล้ว
ขณะเดียวกัน สตีฟ แมทธิว หัวหน้าร่วมของฝ่ายค้นคว้าวิจัย จาก Gro Intelligence ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลภาคการเกษตร กล่าวว่า เกษตรกรเองก็ลังเลที่จะปลูกพืชที่ใช้ในการผลิตน้ำมันเพิ่ม เพื่อชดเชยส่วนที่ขาดหายไปจากยูเครนและรัสเซีย เพราะไม่มีใครมั่นใจว่า สงครามที่ดำเนินมากว่า 2 เดือนนี้จะยุติเมื่อใด
รายงานข่าวระบุว่า ผลกระทบระยะยาวของวิกฤตในช่วงนี้อาจทำให้บางประเทศตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งต้องใช้น้ำมันพืชเป็นส่วนผสมหลัก อย่างเช่นในสหรัฐฯ ที่ใช้ 42% น้ำมันถั่วเหลืองที่มีในแต่ละปีเพื่อผลิตเชื้อเพลิงสะอาดดังกล่าว เป็นต้น
- ที่มา: เอพี