เดวิด บีสลีย์ ผู้อำนวยการบริหารของโครงการอาหารโลก (World Food Program) สหประชาชาติ ระบุว่า การรุกรานยูเครนของรัสเซียอาจทำให้เกิดวิกฤตอาหารโลกครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง
เมื่อวันอังคาร บีสลีย์กล่าวกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่า ธัญพืช 50 เปอร์เซ็นต์ที่โครงการอาหารโลกซื้อเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน 125 ล้านคนทั่วโลกมาจากยูเครน และทางองค์กรอาจต้องเริ่มลดอาหารที่แจกจ่ายในประเทศที่มีสงคราม เช่น เยเมน ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางโครงการอาหารโลกได้ลดการแจกจ่ายอาหารลงไปครึ่งหนึ่งแล้ว เนื่องจากค่าใช้จ่ายอาหาร เชื้อเพลิง และการขนส่งที่สูงขึ้น
บีสลีย์กล่าวต่อว่า ยูเครนและรัสเซียผลิตข้าวสาลีคิดรวมกันเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณข้าวสาลีทั่วโลก ผลิตข้าวโพดรวมกัน 20 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณทั่วโลก และผลิตน้ำมันเมล็ดทานตะวันรวมกันราว 75 – 90 เปอร์เซ็นต์จากปริมาณทั่วโลก โดยอียิปต์และเลบานอนนำเข้าธัญพืชกว่า 80 เปอร์เซ็นต์จากยูเครน
เขาระบุด้วยว่า สงครามครั้งนี้ทำให้เกษตรกรยูเครนต้องออกไปสู้รบแทนที่จะได้ดูแลพืชผลในช่วงฤดูเพาะปลูก เกษตรกรยูเครนยังเผชิญภาวะขาดแคลนปุ๋ยจากเบลารุสและรัสเซีย ซึ่งอาจทำให้ยูเครนมีผลเก็บเกี่ยวน้อยลง 50 เปอร์เซ็นต์
ผ.อ. บริหารของโครงการอาหารโลก ระบุว่า หากสงครามยังดำเนินต่อไป จะทำให้เกิด “หายนะซ้อนหายนะ” และจะนำไปสู่ภาวะข้าวยากหมากแพง ประเทศต่างๆ ขาดเสถียรภาพ และการอพยพครั้งใหญ่ โดยเขากล่าวว่า สิ่งสุดท้ายที่ทางองค์กรไม่ต้องการจะทำคือ “การนำอาหารมาจากเด็กที่หิวโหยเพื่อนำไปให้เด็กที่ขาดอาหาร”
เวนดี เชอร์แมน รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของสหรัฐฯ ระบุว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เป็นต้นเหตุของสถานการณ์ในครั้งนี้ โดยกองกำลังรัสเซียระเบิดเรือขนส่งสินค้าอย่างน้อยสามลำจากท่าเรือในทะเลดำ พร้อมทั้งกล่าวหากองทัพเรือรัสเซียว่าปิดกั้นการเข้าถึงท่าเรือยูเครนเพื่อไม่ให้ยูเครนส่งออกธัญพืชได้
อย่างไรก็ตาม วาสซิลี เนเบนเซีย ทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติ ระบุว่า ราคาอาหารที่สูงขึ้นเป็นผลจากมาตรการลงโทษต่อรัสเซียโดยสหรัฐฯ และชาติตะวันตก โดยเขาระบุว่า กองทัพเรือรัสเซียได้จัดทำระเบียงเพื่อมนุษยธรรมซึ่งอนุญาตให้เรือแล่นออกจากท่าเรือยูเครนได้แล้ว
- ข้อมูลบางส่วนจากเอพี รอยเตอร์ และเอเอฟพี