ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี เดินทางเยือนโรงงานอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีความสำคัญสำหรับยูเครนในการต้านการรุกรานของรัสเซียในรัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา
การเดินทางเยือนโรงงาน Scranton Army Ammunition Plant ของผู้นำยูเครนเป็นจุดหมายแรกของการเดินทางเยือนสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ก่อนจะเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นครนิวยอร์กในวันอังคารและวันพุธ และเยือนกรุงวอชิงตันในวันพฤหัสบดีเพื่อหารือกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน และรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส
ก่อนที่ขบวนรถของเซเลนสกีจะมาถึงโรงงานในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ มีผู้สนับสนุนยูเครนกลุ่มเล็ก ๆ มารวมตัวกันพร้อมธงชาติยูเครนรอรับและแสดงความชื่นชมต่อประธานาธิบดียูเครนที่เดินทางมาแสดงความขอบคุณต่อเหล่าคนงานที่โรงงานแห่งนี้
รายงานข่าวระบุว่า มีการปิดพื้นที่รอบตัวโรงงานตั้งแต่ช่วงเช้าด้วยการนำรถขนขยะของเทศบาลหลายคันมาจอดตรงจุดที่ห่างจากโรงงานหลายช่วงตึก รวมทั้งมีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจของเมือง เขตและรัฐ และทหารม้าจำนวนหนึ่งมารักษาความปลอดภัยทั่วพื้นที่ด้วย
โรงงานที่เมืองสแครนตันนั้นคือ 1 ในโรงงานไม่กี่แห่งในสหรัฐฯ ที่ผลิตกระสุนปืนใหญ่ขนาด 155 มม. ที่ยูเครนใช้สำหรับปืนใหญ่ฮาววิตเซอร์ซึ่งมีความสามารถยิงเข้าใส่เป้าหมายได้ไกลถึง 24-32 กิโลเมตรและมีความสำคัญในการต่อสู้กับรัสเซีย และโรงงานนี้ก็ได้ดำเนินการเพิ่มกำลังการผลิตกระสุนดังกล่าวมาตลอดในช่วงปีที่ผ่านมา
สหรัฐฯ นำส่งกระสุนปืนใหญ่ขนาด 155 มม. ให้ยูเครนไปแล้วกว่า 3 ล้านลูก ขณะที่ มีรายงานว่า ยูเครนเคยยิงกระสุนดังกล่าวมากถึง 6,000-8,000 ลูกในเวลา 1 วันเพื่อโจมตีรัสเซีย ซึ่งส่งผลให้คลังอาวุธของสหรัฐฯ ลดลงหนักจนอาจทำให้กองทัพสหรัฐฯ เองมีไม่พอใช้งานหากเกิดเหตุจำเป็นขึ้นมา
Your browser doesn’t support HTML5
และในขณะที่สงครามนี้เข้าสู่ปีที่ 3 อยู่นี้ เซเลนสกียังคงเดินหน้าพยายามโน้มน้าวสหรัฐฯ ให้อนุญาตให้กองทัพยูเครนใช้ระบบขีปนาวุธพิสัยไกลในการยิงโจมตีลึกเข้าไปในรัสเซียอยู่
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ย้ำมาเสมอว่า ยูเครนมีความสามารถที่จะใช้โดรนที่ผลิตเองเพื่อโจมตีกรุงมอสโก พร้อมยอมรับถึงความลังเลใจเกี่ยวกับผลพวงกับการเข้าไปมีส่วนร่วมในสงครามครั้งนี้หากยอมให้กรุงเคียฟใช้ขีปนาวุธที่สหรัฐฯ ผลิตยิงโจมตีเมืองหลวงของรัสเซีย
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้เตือนไว้แล้วว่า รัสเซียจะ “เข้าสู่ภาวะสงคราม” กับสหรัฐฯ และกลุ่มพันธมิตรนาโต้ ถ้าหากมีการยอมให้ยูเครนใช้อาวุธพิสัยไกลโจมตีรัสเซีย
แม้ยูเครนจะไม่ใช่สมาชิกกลุ่มนาโต้ ประเทศในยุโรปหลายแห่งมองว่า การรักษาพันธกรณีด้านการปกป้องประเทศนี้คือสิ่งที่ต้องทำเพื่อกันไม่ให้ปูตินดำเนินการรุกรานทางทหารเข้าใส่ประเทศสมาชิกนาโต้อื่น ๆ ที่มีอาณาเขตติดกับรัสเซีย
- ที่มา: เอพี