Your browser doesn’t support HTML5
วันนี้ ปธน.สหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) เพื่อถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงการค้า Trans-Pacific Partnership (TPP) ที่รัฐบาลอดีต ปธน.โอบาม่า เป็นผู้ผลักดัน โดยให้เหตุผลว่าข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้อเมริกาสูญเสียตำแหน่งงานจำนวนมาก
ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มการทำงานสัปดาห์แรกในฐานะประธานาธิบดี ด้วยลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) เพื่อถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงการค้า Trans-Pacific Partnership (TPP)
โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวที่ทำเนียบขาวว่า การถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลง TPP ถือเป็นประโยชน์ใหญ่หลวงต่อแรงงานชาวอเมริกัน
นอกจากคำสั่งดังกล่าวแล้ว ปธน.คนใหม่ของสหรัฐฯ ยังลงนามใน Executive Order ที่ห้ามหน่วยงานของรัฐบาลให้เงินทุนกับองค์กรระหว่างประเทศที่ดำเนินการทำแท้งหรือสนับสนุนการทำแท้ง เช่นเดียวกับที่ประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันหลายคนได้เคยทำไว้ก่อนหน้านี้
รวมถึงคำสั่งที่ระงับการจัดจ้างพนักงานของรัฐบาลส่วนกลาง เพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลด้วย
สำหรับข้อตกลงการค้า Trans-Pacific Partnership (TPP) เริ่มมีการเจรจามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 ในสมัยของรัฐบาลอดีต ปธน. บารัค โอบาม่า และผ่านความเห็นชอบของประเทศสมาชิก 12 ประเทศ เมื่อปีที่แล้ว แต่ไม่ผ่านการรับรองจากรัฐสภาสหรัฐฯ โดยมีสมาชิกรัฐสภาหลายคนจากทั้งสองพรรคที่ต่อต้านข้อตกลงนี้
ข้อตกลงการค้า TPP ถือเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ครอบคลุมเกือบ 40% ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก และราว 1 ใน 3 ของมูลค่าการค้าโลก
โฆษกทำเนียบขาว Sean Spicer กล่าวต่อผู้สื่อข่าวันนี้ว่า “ปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวไว้หลายครั้งว่า ข้อตกลงการค้าแบบพหุภาคีแบบ TPP มิได้เป็นประโยชน์สูงสุดต่ออเมริกา” และว่าผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ กำลังเดินหน้าเพื่อจัดทำข้อตกลงการค้าที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของแรงงานอเมริกันและบริษัทผู้ผลิตต่างๆ ในสหรัฐฯ”
โฆษกทำเนียบขาวคนใหม่ยังกล่าวด้วยว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการจัดทำข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคี คือทำกับแต่ละประเทศโดยตรงมากกว่า
คุณ Gary Hufbauer นักวิเคราะห์แห่งสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ Peterson กล่าวว่า หากสหรัฐฯ ถอนตัวออกจาก TPP จะถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ และเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของจีน เนื่องจากเวลานี้จีนก็กำลังพยายามร่างข้อตกลงการค้าที่มีประเทศสมาชิก TPP บางประเทศเข้าร่วมอยู่ด้วยเช่นกัน
นักวิเคราะห์ผู้นี้บอกด้วยว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะลดลงราว 0.5% เมื่อสหรัฐฯ ถอนตัวจาก TPP
ส่วนคุณ Gareth Leather แห่งสถาบัน Capital Economics ในกรุงลอนดอน บอกว่าหากข้อตกลงการค้า TPP ล้มเหลว จะส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังขยายตัวในเอเชีย เช่น มาเลเซียและเวียดนาม เนื่องจากข้อตกลงอีกฉบับหนึ่งที่จีนเป็นผู้นำนั้น มีขนาดเล็กกว่า TPP มาก
โดยเวลานี้ จีนกำลังผลักดันข้อตกลงการค้าเสรีที่ชื่อว่า Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ซึ่งครอบคลุมประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย
ด้านอาจารย์ Carl Thayer นักรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย New South Wales ในออสเตรเลีย เชื่อว่าเมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจถอนตัวจาก TPP จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับพันธมิตรในเอเชีย รวมทั้ง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเวียดนาม
รายงานก่อนหน้านี้ชี้ว่า นายกฯ ญี่ปุ่น ชินโซ่ อาเบะ ได้ลงทุนไปมากในทางการเมือง เพื่อผลักดันข้อตกลงการค้าฉบับนี้ แม้จะถูกต่อต้านอย่างหนักจากพรรคฝ่ายค้านญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ เพิกเฉยต่อคำขอของนายกฯ อาเบะ ก็เชื่อได้ว่าความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นต่อจากนี้ ก็อาจจะเกิดความบาดหมางไม่มากก็น้อย
(ผู้สื่อข่าว Ken Bredemeier รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)