ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในอดีต มีหลายครั้งที่ผู้สมัครให้สัญญาไว้ว่าจะเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศบางอย่างที่มีผลกระทบต่อประเทศทางเอเชีย แต่เมื่อได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้นกลับมิได้เกิดขึ้น
อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จิมมี่ คาร์เตอร์ เคยสัญญาไว้ระหว่างการหาเสียงเมื่อ 40 ปีก่อน ว่าจะถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากเกาหลีใต้ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ตามที่กล่าวไว้ ขณะที่อดีตประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน เคยสัญญาไว้ว่าจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตเต็มรูปแบบกับไต้หวัน แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการต่อเมื่อรับตำแหน่ง
นั่นคือตัวอย่างของสิ่งที่ผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้สัญญาระหว่างการหาเสียง ว่าจะเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศที่มีผลกระทบต่อเอเชีย แต่เมื่อได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้นกลับมิได้เกิดขึ้น
คุณราล์ฟ คอสซ่า แห่ง Center for Strategic and International Studies ระบุว่า "ในการหาเสียงของผู้สมัครประธานาธิบดีแต่ละครั้ง ราวครึ่งหนึ่งของนโยบายที่ผู้สมัครได้รับปากไว้ ไม่เคยเกิดขึ้นจริง และเชื่อว่าในกรณีของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็คงไม่ต่างกัน"
นโยบายด้านเอเชียที่โดนัลด์ ทรัมป์ หาเสียงไว้ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีหลายประเด็นด้วยกัน ตัวอย่างเช่น
ทรัมป์ ได้เน้นย้ำหลายครั้งว่าสหรัฐฯ น่าจะถอนทหารออกจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ นอกเสียจากว่าทั้งสองประเทศนั้นจะยินยอมจ่ายต้นทุนค่าประจำการของทหารเหล่านั้นอย่างยุติธรรม (ซึ่งปัจจุบัน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จ่ายต้นทุนดังกล่าวอยู่ราวครึ่งหนึ่ง)
ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังระบุไว้ด้วยว่า พันธมิตรของสหรัฐฯ ทั้งสองประเทศควรมีศักยภาพปกป้องตนเอง โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ซึ่งอาจรวมถึงการอนุญาตให้ทั้งสองประเทศมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง
นอกจากนี้ ทรัมป์ได้กล่าวไว้เมื่อเดือน เม.ย ว่า หากการถอนทหารของสหรัฐฯ มีผลให้เกิดสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีเหนือ ตนก็ขออวยพรให้โชคดี
ในส่วนที่เกี่ยวกับจีน โดนัลด์ ทรัมป์ สัญญาว่าจะกำหนดอัตราภาษี 45% ต่อสินค้าจีนที่นำเข้ามายังสหรัฐฯ และรับปากว่าจะประกาศอย่างเป็นทางการว่าจีนคือผู้แทรกแซงค่าเงินหยวน
และเขายังยืนยันต่อต้านข้อตกลงการค้า Trans-Pacific Partnership (TPP) ที่เป็นหัวใจสำคัญของนโยบายมุ่งเน้นมาทางเอเชีย หรือ Asia Pivot ของรัฐบาลประธานาธิบดีโอบาม่าด้วย
และสำหรับเกาหลีเหนือ ดูเหมือนว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีข้อความที่ยังไม่ชัดเจน เพราะเคยกล่าวว่า ตนทั้งยินดีเจรจากับผู้นำ คิม จอง อึน แต่ก็ไม่ปฏิเสธหากจีนต้องการจะลอบสังหารผู้นำเกาหลีเหนือผู้นี้
ทัศนคติด้านนโยบายดังกล่าวของ โดนัลด์ ทรัมป์ ก่อให้เกิดความกังวลว่าอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อทิศทางนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อเอเชีย
คุณ เจมส์ สค็อฟ แห่งโครงการเอเชียศึกษาของสถาบัน Carnegie Endowment for International Peace ชี้ว่า "นโยบายที่ทรัมป์กล่าวไว้จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ และแตกแยกจากคุณค่าที่มาจากความสัมพันธ์ที่ดีของสหรัฐฯ กับมิตรประเทศในเอเชีย ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็อาจทำให้ความพยายามของประชาคมโลกตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้น สูญเปล่า"
อย่างไรก็ตาม คุณคัตสึยุกิ คาวาอิ ที่ปรึกษาของนายกฯ ญี่ปุ่น ชินโซ่ อาเบะ ที่ได้พบปะหารือกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว กล่าวว่าที่ปรึกษาหลายคนของทรัมป์กล่าวกับตนก่อนที่จะมีการหารือของผู้นำทั้งสองคนว่า “อย่าได้ถือเอาทุกคำพูดที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวต่อสาธารณชน เป็นจริงเป็นจัง”
ซึ่งนั่นอาจสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของบรรดาผู้นำในเอเชีย ที่มีต่อนโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ที่ดูเหมือนทุกอย่างยังคงไม่แน่นอน
(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจากผู้สื่อข่าว William Gallo )