ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวในสัปดาห์นี้ว่า จะถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงการค้าเสรี Trans-Pacific Partnership (TPP) ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคมปีหน้า ซึ่งข้อตกลงฉบับนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของนโยบาย Asia Pivot ของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโอบามา
Trans-Pacific Partnership (TPP) คือข้อตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศสมาชิก 12 ประเทศในแถบเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้งสหรัฐฯ โดยมีผลผลิตมวลรวมคิดเป็น 40% ของ GDP ทั่วโลก
ในช่วงหาเสียง นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เรียกข้อตกลงการค้าต่างๆ ที่รัฐบาลสหรัฐฯชุดก่อนๆ ได้ทำไว้ ว่าเป็น “หายนะ” ต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐฯ และล่าสุดเขากล่าวผ่านทางวิดีโอที่บันทึกเอาไว้ว่า เขาจะถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงการค้าเสรี TPP ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคมปีหน้า แล้วหันไปทำข้อตกลงการค้าเป็นรายประเทศแทน
แต่คุณ Gary Hufbauer นักวิเคราะห์แห่งสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ Peterson กล่าวว่า หากสหรัฐฯ ถอนตัวออกจาก TPP จริงๆ จะถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ และเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของจีน เนื่องจากเวลานี้จีนก็กำลังพยายามร่างข้อตกลงการค้าที่มีประเทศสมาชิก TPP บางประเทศเข้าร่วมอยู่ด้วยเช่นกัน
นักวิเคราะห์ผู้นี้บอกด้วยว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะลดลงราว 0.5% หากสหรัฐฯ ถอนตัวจาก TPP
ส่วนคุณ Gareth Leather แห่งสถาบัน Capital Economics ในกรุงลอนดอน บอกว่าหากข้อตกลงการค้า TPP ล้มเหลว จะส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังขยายตัวในเอเชีย เช่น มาเลเซียและเวียดนาม เนื่องจากข้อตกลงอีกฉบับหนึ่งที่จีนเป็นผู้นำนั้น จะมีขนาดเล็กกว่า TPP มาก
โดยเวลานี้ จีนกำลังผลักดันข้อตกลงการค้าเสรีที่ชื่อว่า Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ซึ่งครอบคลุมประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย
ด้านอาจารย์ Carl Thayer นักรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย New South Wales ในออสเตรเลีย เชื่อว่าขณะนี้ลมหายใจของ TPP ร่อแร่เต็มที และหาก โดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจถอนตัวจาก TPP ก็อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับพันธมิตรในเอเชีย รวมทั้ง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเวียดนาม อย่างแน่นอน
รายงานก่อนหน้านี้ชี้ว่า นายกฯ ญี่ปุ่น ชินโซ่ อาเบะ ได้ลงทุนไปมากในทางการเมือง เพื่อผลักดันข้อตกลงการค้าฉบับนี้ แม้จะต่อต้านอย่างหนักจากพรรคฝ่ายค้านญี่ปุ่น ซึ่งหาก โดนัลด์ ทรัมป์ เพิกเฉยต่อคำขอของนายกฯ อาเบะ ก็เชื่อได้ว่าความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นจะเกิดความบาดหมางไม่มากก็น้อย
อาจารย์ Carl Thayer ยังบอกด้วยว่า TPP เป็นมากกว่าข้อตกลงการค้า แต่ยังเป็นการรวมมาตรฐานด้านต่างๆ ไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ด้านแรงงาน การบริการ และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา
ด้าน รศ.ดร. ภวิดา ปานะนนท์ แห่งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า หากไม่มีข้อตกลงการค้า TPP บทบาทของอเมริกาในฐานะผู้นำการค้าโลกจะถูกลดทอนลงไปมาก และอาจก่อให้เกิดความกังวลต่อสถานะความมั่นคงของการค้าโลกได้
ก่อนหน้านี้ สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้จัดทำรายงานที่ระบุว่า ข้อตกลงการค้า TPP จะช่วยเพิ่มการส่งออกของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในภาคการเกษตร และจะทำให้สินค้านำเข้าโดยรวมมีราคาถูกลง แต่ขณะเดียวกันงานบางอย่างในสหรัฐฯ อาจถูกย้ายไปไปต่างประเทศ
ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ TPP ถูกต่อต้านจากสหภาพแรงงานในสหรัฐฯ รวมทั้งจากองค์กรสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่กังวลว่าข้อตกลงการค้าฉบับใหญ่โตนี้ จะทำให้เกิดมลพิษทางน้ำและอากาศทั่วโลกมากยิ่งขึ้น
(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจากผู้สื่อข่าว Ron Corben)